บทที่ 6 ปีพิธีกรรมและพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ
เทศกาลในปีพิธีกรรม l พิธีมิสซา (บูชาขอบพระคุณ) l องค์ประกอบของพิธีมิสซา l

เทศกาลในปีพิธีกรรม

ความหมายของเทศกาลในปีพิธีกรรม

1. เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า (Advent)

เริ่มต้นวันอาทิตย์ สี่สัปดาห์ก่อนคริสต์มาสจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม เป็นการเตรียมตัวเพื่อช่วงเวลาของพระคริสตสมภพ ที่กำลังจะมาถึง ช่วงเวลาแห่งการเตรียมนี้ เรียกว่า "เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ"

เรารอคอยด้วยความหวัง ถึงการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า พร้อมกับพระนางมารีอา

2. เทศกาลพระคริสตสมภพ (Christmastide)

เริ่มต้นจากวันคริสต์มาส ถึงวันฉลองการรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้า

ในระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม และสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม คริสตชนยังคงอยู่ในเทศกาลพระคริสตสมภพในช่วงเวลาแห่งความชื่นชมยินดีเหล่านี้ เราจะต้อนรับการเสด็จมาของพระผู้ไถ่

การประกาศถึงการแสดงองค์ของพระคริสตเจ้า (God'sepiphany) พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้ามายังแผ่นดิน

ช่วงเวลาแห่งการเตรียมตัว และการเฉลิมฉลอง นำเราให้ผ่านพ้นปีเก่าและเข้าสู่ปีใหม่ สำหรับคริสตชนแล้ว ปีของเรามิใช่เพียงการหมุนเวียนไปของวันเวลาเท่านั้น แต่การเวียนไปจนครบรอบปีของคริสตชน คือการนำออกนอกเวลาไปสู่ความรุ่งเรืองแห่งนิรันดร์กาลในพระเจ้า

3. เทศกาลมหาพรต (The Lent)

เริ่มจากวันพุธรับเถ้า (Ash Wednesday) มหาพรต คือช่วงเวลา 40 วัน แห่งการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่ปัสกา เลข 40 เตือนให้เราระลึกถึงฝนที่ตกตลอด 40 วัน 40 คืน ในสมัยโนอาห์ เพื่อชำระล้างความชั่วร้ายของแผ่นดินให้สะอาดหมดจด

40 ปี แห่งการเดินทางของชาวฮีบรูในทะเลทราย เพื่อจะเข้าสู่ดินแดนแห่งพระสัญญา

40 วัน ที่พระเยซูเจ้าทรงอดอาหาร และถูกประจญในถิ่นทุรกันดาร

มหาพรต คือช่วงเวลาแห่งการภาวนาที่เข้มข้น การอดอาหาร การพลีกรรม และประกอบกิจศรัทธา ห้วงเวลาแห่งการให้ความสดชื่นแก่โลกของเรา เพื่อไปสู่บ้านของพระเจ้า

สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Paschal Triduum) เราคริสตชน จะรักษาวันพระเจ้านี้ได้อย่างเหนียวแน่น เราอดอาหารในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ และชิดสนิทกับพระด้วยการตื่นเฝ้าในวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์เพราะเราตื่นเฝ้า และรอคอยให้การเสด็จกลับคืนพระชนมชีพในวันอาทิตย์ปัสกาที่กำลังมาถึงเรา ด้วยความกระหาย และโหยหาพระองค์

การร่วมชิดสนิท และการอวยพร วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ และวันอาทิตย์ปัสกานี้ รวมเรียกว่า "Paschal Triduum" หมายถึงสามวันแห่งการผ่านพ้น Triduum คือหัวใจของปีพิธีกรรม ส่วนวันแห่งความตาย การถูกขัง และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ตลอดช่วงวันอันศักดิ์สิทธิ์นี้ เราจะฉลองการเสด็จผ่านความตายของพระเยซูเจ้า (และของเรา) ด้วยการโปรดศีลล้างบาป พิธียืนยันการเป็นคริสตชน และการรับศีลมหาสนิทในช่วงปัสกานี้ (แก่คริสตชนใหม่)

4. เทศกาลปัสกา (Eastertime)

เริ่มจากวันอาทิตย์ปัสกา จนถึงวันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า เทศกาลปัสกา คือช่วงเวลา 50 วันแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งอยู่ถัด Triduum นับได้ว่าเป็นเทศกาลที่เก่าแก่ และงดงามที่สุดของพระศาสนจักร วันแห่งความชื่นชมยินดีของโลก ซึ่งตื่นจากการหลับใหล

50 วัน (เปนเตก๊อสเต) คือ สัปดาห์ที่ทวีคูณ 7 x 7 = 49 บวกอีก 1 วันอาทิตย์ปัสกา ดังนั้นเทศกาลปัสกาจึงมีวันอาทิตย์ 8 ครั้ง (8 วัน) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงความลึกลับของนิรันดรภาพ

แต่ละสัปดาห์ เรามีวันพระเจ้า และแต่ละปี เรามีเทศกาลปัสกา 50 วันแห่งการเปล่งเสียง "อัลเลลูยา" สรรเสริญพระเจ้า 50 วัน แห่งการใช้ชีวิตตามบทบัญญัติแห่งความยุติธรรม และสันติสุข ซึ่งเต็มเปี่ยมในตัวเรา เมื่อรวมทั้ง 3 ช่วงเข้าด้วยกัน คือ มหาพรต สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และปัสกา จึงกลายเป็นการผลิบานที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร

5. เทศกาลธรรมดา (Ordinary Time)

เป็นเทศกาลที่แทรกอยู่ระหว่าง เทศกาลพระคริสตสมภพ กับมหาพรต และระหว่างเทศกาลปัสกา กับเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นเวลาประมาณ 34 สัปดาห์ นอกเหนือไปจากเทศกาลสำคัญของพระศาสนจักรแล้ว สัปดาห์เหล่านี้เรียกว่า เทศกาลธรรมดา ดังนั้นในแต่ละสัปดาห์ จึงมีการนับเป็นตัวเลข เพื่อช่วยให้เราแบ่งการอ่าน บทอ่าน บทสวดต่าง ๆ ในหนังสือพิธีกรรมได้อย่างถูกต้อง และรวมทั้งหนังสือสวดเป็นทางการของพระศาสนจักร ที่เรียกว่าหนังสือทำวัตรอีกด้วย

พิธีมิสซา (บูชาขอบพระคุณ)

พิธีมิสซาฯ คือ พิธีบูชาขอบพระคุณ ในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชน โดยมีองค์พระเยซูเจ้าเอง เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปแทนเรามนุษย์ อาศัยพระกาย และพระโลหิตที่ยอมสละ และพลีชีวิตเพื่อเรา ดังนั้น พิธีมิสซาฯ จึงควรเป็นพิธีของส่วนรวมในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่คริสตชนจะขอบพระคุณพระเจ้า ที่ได้ทรงประทานพระบุตรของพระองค์ลงมาไถ่บาปแทนเรามนุษย์ทุกคน

ในความเป็นจริง คำว่า "มิสซา" หมายถึง "การถูกส่งไป" เพื่อประกาศข่าวดี และเป็นแบบอย่าง รวมทั้งมอบตนเอง และชีวิตให้มีคุณค่าต่อคนอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับที่เราได้รับจากพระเจ้า

ความหมายที่แท้จริงของคำว่ามิสซา จึงไม่ถูกต้องตรงกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เราจึงควรเรียกพิธีกรรมในปัจจุบันว่า "พิธีบูชาขอบพระคุณ (Eucharistic Celebration) โดยเน้นที่ความหมายของพิธีกรรมว่า เป็นการขอบพระคุณอย่างแท้จริง คือ พระเยซูเจ้า เป็นทั้งผู้ถวาย และเป็นเครื่องบูชาเอง โดยผ่านทางพิธีการหักปังบนพระแท่นเพื่อขอบพระคุณพระบิดา สำหรับการส่งพระบุตรให้มาไถ่กู้มนุษยชาติ จะเห็นได้ว่าคำว่ามิสซา จึงไม่ตรงกับคำศัพท์ และความหมายทางพิธีกรรม เพียงแต่มีความเข้าใจ และถือกันมาจากธรรมเนียมประเพณีเดิมมากกว่า

ในพิธีมิสซาฯ คริสตชนเชื่อว่า องค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริงใน 3 วิธีการ คือ

1. จากพระวาจาของพระองค์ในบทอ่านจากพระคัมภีร์

2. กระหว่างการเสกปัง และเหล้าองุ่น เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการที่พระเยซูเจ้าจะสถิตอยู่ในพิธีมิสซาฯ เพราะเป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า

3. การรับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็น "ปังทรงชีวิต"

เมื่อพิธีมิสซาฯ สิ้นสุดแล้ว พระเยซูเจ้ายังคงประทับอยู่ในศีลมหาสนิท ธรรมเนียมการเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้หลังมิสซาจึงเกิดขึ้น เพราะความต้องการที่จะใช้เป็นศีลเสบียงสำหรับคนเจ็บป่วย และแจกศีลแก่ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมพิธีมิสซาฯ ได้ จึงเกิดธรรมเนียม "การเฝ้าศีล" เกิดขึ้นในภายหลังด้วย จะเห็นได้ว่ามิสซาเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตคริสตชน ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่พิธีกรรมภายนอกเท่านั้น หรือการบริจาคทาน คริสตชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นทุกขั้นตอน

(กลับด้านบน)

องค์ประกอบของพิธีมิสซาฯ

พิธีการต่าง ๆ ของพิธีมิสซาฯ นั้น ประกอบด้วยภาคต่าง ๆ ดังนี้

1. ภาคเริ่มพิธี

ตั้งแต่เริ่มพิธี ไปจนถึงบทภาวนาของประธาน (Collecta)

2. ภาควจนพิธีกรรม

เริ่มจากบทอ่านแรกจากพันธสัญญาเดิม บทอ่านที่สองซึ่งเป็นบทจดหมายหรือหนังสืออื่น ๆ ในพันธสัญญาใหม่ และพระวรสารซึ่งถือเป็นพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสผ่านทางองค์พระบุตร คือ พระเยซูเจ้า การเทศน์เตือนใจของพระสงฆ์ การประกาศยืนยันความเชื่อ และบทภาวนาของมวลชน

3. ภาคศีลมหาสนิท

เริ่มจากภาคถวายเครื่องบูชา จนถึงบทภาวนาหลังรับศีล คือการเตรียมเครื่องบูชา - การเสกศีลฯ และการรับศีลฯ เป็นต้น

4. ภาคปิดพิธี

การอวยพรและการส่งไป ที่ให้เรากลับไปสู่ชีวิตกับเพื่อนพี่น้องในสังคมของเราต่อไป

1. ภาคเริ่มพิธี

เริ่มจากเพลงแห่เข้า (ในความเป็นจริงจะไม่มีเพลงก็ได้ แต่การที่มีเพลง เพื่อให้สัตบุรุษรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสรรเสริญพระเจ้า และถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง เพลงในพิธีกรรมที่ดี ควรเป็นเพลงที่สื่อความหมายให้เข้าใจในพิธีกรรม และร่วมจิตใจได้)

- คำทักทาย - การสารภาพความผิด - บทกีรีเอ - (พัฒนามาจากบทลีตานีอาในยุคแรกเริ่ม) - บทกลอรีอา และจบที่บทภาวนาของประธานซึ่งเป็นช่วงเชื่อมต่อไปสู่ช่วงที่สอง ในภาควจนพิธีกรรม

สาระโดยรวมของภาคเริ่มพิธีนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเริ่มต้นนำ และเตรียมให้บรรดาสัตบุรุษที่ชุมนุมอยู่ด้วยกัน มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นการโน้มน้าวจิตใจให้พร้อมที่จะฟังพระวาจาของพระเจ้าอย่างถูกต้อง และให้เฉลิมฉลองศีลมหาสนิทอย่างสมควร

2. ภาควจนพิธีกรรม

ภาควจนพิธีกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีที่ชาวยิวปฏิบัติกันมาแต่เดิมก่อนยุคของพระเยซูคริสตเจ้า โดยในพิธีมิสซาฯ จะจัดให้มี "โต๊ะพระวาจา" หรือธรรมาสน์ เพื่อใช้อ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้า แยกออกจาก "โต๊ะศีลมหาสนิท" หรือพระแท่นอันเป็นจุดสำคัญที่สุดของพิธีกรรม

การอ่านบทอ่าน ไม่ใช่หน้าที่ของประธาน แต่เป็นหน้าที่ของศาสนบริกร เช่น สังฆานุกร หรือผู้อ่านพระคัมภีร์ สำหรับการอ่านพระวรสารนั้น เป็นหน้าที่ของสังฆานุกร หรือประธานในพิธี จะต้องแสดงออกถึงการคารวะอย่างยิ่งต่อพระวรสารที่อ่าน โดยให้เกียรติอย่างพิเศษกว่าบทอ่านอื่น ๆ ไม่ว่าในการเลือกผู้อ่านระดับศาสนบริกร หรือพระสงฆ์เอง สัตบุรุษเอง ก็ต้องแสดงความคารวะอย่างพิเศษโดยการยืนฟัง และพนมมืออย่างสำรวม

ในระหว่างการอ่านบทอ่าน จะมีการร้องเพลงคั่น ในช่วงแรกจะเป็นเพลงสดุดี (Psalms) และส่วนที่สองจะเป็นเพลงสรรเสริญ (Acclamation) หรือเพลง Hymn บทอัลเลลูยา ซึ่งจะร้องก่อนการอ่านพระวรสาร

การเทศนาเตือนใจ (Homily) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เป็นส่วนที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน และจะต้องอธิบายตามคำสอนในบทอ่านจากพระคัมภีร์ของมิสซาประจำวันนั้น ๆ การเทศนาเตือนใจ มีลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าการเทศน์ในรูปอื่น เพราะการเทศน์แบบนี้ เป็นการเทศน์เพื่ออธิบาย หรือโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้า ที่ตรัสกับเราผ่านทางพระคัมภีร์มากกว่าจะมุ่งเน้นแบบการสอนศาสนาให้คนกลับใจ (Evangelization) หรือการเทศน์แบบสอนคำสอน (Catechesis)

เมื่อพระสงฆ์เตือนใจแล้ว จะเป็นการประกาศยืนยันความเชื่อ (Credo) เพื่อให้ประชากรเห็นพ้อง และสนองตอบพระวาจาของพระเจ้า ที่ได้ฟังในบทอ่าน และการเทศน์ และให้รื้อฟื้นข้อความเชื่อก่อนที่จะเริ่มพิธีศีลมหาสนิท และยังนับว่าเป็นบทสรุป "ประวัติศาสตร์แห่งความรอด" ซึ่งสัตบุรุษประกาศยืนยันความเชื่อของพระศาสนจักรที่มีมาแต่เดิม รวมทั้งแสดงความหวังที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดร กับพระเจ้าในบั้นปลายด้วย บทภาวนาเพื่อมวลชน มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของคริสตชนที่จะต้องภาวนาเพื่อมนุษยโลกในสังคม ในเรื่องต่าง ๆ ที่พระศาสนจักรได้กำหนดไว้

3. ภาคศีลมหาสนิท

เริ่มจากการเตรียมเครื่องบูชา โดยต้องเตรียมพระแท่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมศีลมหาสนิททั้งมวล โดยปูผ้ารองถ้วยกาลิกส์และจานศีล (Corporal) นำผ้าเช็ดถ้วยกาลิกส์ (Purificator) ถ้วยกาลิกส์และหนังสือมิสซาวางบนพระแท่น นำแผ่นปังและเหล้าองุ่นมาเตรียมไว้ รวมทั้งมีการบริจาคใส่ถุงทานสำหรับคนยากไร้ หรือทางวัดด้วย

คำภาวนาแห่งศีลมหาสนิท หรือการเสกปัง และเหล้าองุ่นให้เป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ถือเป็นหัวใจสำคัญของพิธีมิสซาฯ ประกอบด้วยการเสกศีล เพื่อระลึกถึง และรื้อฟื้นถึงการตั้งศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้า ในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายก่อนทรงรับทรมาน และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน การขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ บทข้าแต่พระบิดา การบิปัง และการรับศีลมหาสนิทของสัตบุรุษ ซึ่งการรับศีลมหาสนิท นับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณพระเจ้า

การรับศีลมหาสนิทให้ความหมายหลายประการ เช่น

1.เป็นการร่วมสนิท เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า

2. เป็นการร่วมมีส่วนในงานกอบกู้ของพระเยซูเจ้า

3. เป็นการร่วมสนิทสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตชนด้วยกัน

4. ภาคปิดพิธี

เมื่อสัตบุรุษรับศีลเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเข้าสู่ภาคปิดพิธี ในภาคนี้ ทางวัดสามารถประกาศข่าวต่าง ๆ ให้สัตบุรุษทราบ จากนั้นจะเป็นการอำลา และอวยพร

ข้อสังเกตุ ที่คริสตชนบางกลุ่ม อาจจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพิธีมิสซาฯ คือ จริง ๆ แล้ว การแก้บาป (ศีลอภัยบาป) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีมิสซาฯ สัตบุรุษสามารถรับศีลอภัยบาปได้ตลอดเวลาแม้ไม่ใช่เวลามิสซา แต่การที่มีการแก้บาปก่อนพิธีมิสซาฯ นั้น ก็เพื่อประโยชน์ในด้านการอภิบาลสัตบุรุษ คืออำนวยความสะดวกแก่สัตบุรุษที่มาวัดอาทิตย์ละครั้ง รวมทั้งทำให้การร่วมพิธีมิสซาฯ ของสัตบุรุษที่รับศีลอภัยบาปแล้ว มีความหมายมากยิ่งขึ้น เป็นการเสริมสร้างจิตใจ แต่สิ่งที่ควรส่งเสริมคุณค่า และความหมายของศีลอภัยบาปนั้น สัตบุรุษควรรับศีลอภัยบาปอย่างสม่ำเสมอ ในเวลาใดก็ได้ที่เหมาะสม และมีความต้องการคืนดีกับพระซึ่งไม่เพียงก่อนพิธีมิสซาฯ เท่านั้น

(กลับด้านบน)


"ขอพระสิริมงคลจงมีแด่พระเจ้า
และสันติสุขจงมีแด่ทุกคนผู้มีน้ำใจดี"


 

 

 

Free Web Hosting