www.mariarosa.org

บทที่ 3 ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacrements)

ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) เป็นเครื่องหมาย และเครื่องมือนำความรอด เป็นพระคุณ หรือของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้เราได้รับความรอดปลอดภัย อาศัยเครื่องหมาย และสัญลัษณ์ภายนอกแบบมนุษย์ เพื่อเป็นสื่อนำความหมายสร้างความสัมพันธ์กับพระ โดยทางความเชื่อภายใน เป็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างพระกับเรามนุษย์ เพื่อช่วยให้เราได้มีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ และสัมผัสกับความรักของพระองค์ในชีวิตของเรา

ดังนั้น ศีลศักดิ์สิทธิ์ จึงเป็นเครื่องหมายภายนอกที่พระเยซูเจ้า ทรงตั้งขึ้นโดยผ่านทางพระศาสนจักร ที่ประทานให้แก่เรามนุษย์ เพื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องมือของพระ นำมาซึ่งพระคุณ พระหรรษทานแห่งความรอด และความศักดิ์สิทธิ์เพื่อเรา นั่นคือ เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อภายใน เพื่อทำให้เราผู้รับได้รับพระหรรษทานจากองค์พระเจ้า

 

ศีลศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนคาทอลิก มี 7 ประการ คือ

1.ศีลล้างบาป (Baptism) หรือศีลจุ่ม

เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อภายใน เพื่อเป็นการชำระ หรือลบล้างบาปกำเนิด อาศัยการช่วยให้รอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า

เครื่องหมายที่สำคัญคือ น้ำ และการชำระล้าง พร้อมกับคำกล่าวว่า "ข้าพเจ้าล้างท่าน เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต"

ผลของศีลล้างบาป ทำให้เราได้รับพระหรรษทานแห่งความรอด ได้กลับเป็นลูกของพระ มีเกียรติ ศักดิ์ศรีสมบูรณ์แบบ และสามารถรับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายของความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดรในสวรรค์

2. ศีลกำลัง (Confirmation) หรือการยืนยัน

การรับศีลกำลัง เป็นการยืนยัน เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึง "การบรรลุนิติภาวะทางความเชื่อ" หรือความศรัทธา คือการพัฒนาเติบโต มีกำลังเข้มแข็งในความเชื่อ สามารถเป็นพยานถึงความเชื่อ ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการปฏิบัติ

เครื่องหมายสำคัญของศีลกำลัง คือการปกมือ และการเจิมน้ำมันคริสมาที่หน้าผาก ผลของศีลกำลังคือ การได้รับพระคุณ (Gifts) ของพระจิต 7 ประการ ได้แก่

1. พระดำริ (Wisdom) ให้เราสามารถเข้าใจถึงน้ำพระทัยของพระที่มีต่อเราเป็นผู้ที่ชาญฉลาด รู้จักเลือกสิ่งที่ดีที่สุด

2. สติปัญญา (Understanding) ให้เราสามารถเข้าใจถึงความลึกลับและความจริงของข้อคำสอน

3. ความคิดอ่าน (Counsel) ให้เรารู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ และปฏิบัติอย่างเหมาะสมถูกต้อง

4. พละกำลัง ความเข้มแข็ง (Fortitude) ให้เรามีพลังที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก และการถูกประจญ

5. ความรู้ (Knowledge) ให้เราสามารถมีความเข้าใจในคำสอนและข้อความเชื่อ ทั้งทางโลก และทางธรรม

6. ความศรัทธา (Piety) ให้เรามีความรัก เลื่อมใสศรัทธา ผูกพัน และวางใจในพระเสมอ

7. ความยำเกรงพระเจ้า (Fear of the Lord) ให้เรามีความเคารพ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อหน้าพระเสมอ

3. ศีลอภัยบาป (Penance) หรือการคืนดี

เป็นการคืนดีกับพระและเพื่อนพี่น้อง มีความเสียใจ และตั้งใจที่จะกลับคืนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระหรรษทานของพระต่อไป

เครื่องหมายสำคัญคือ การเป็นทุกข์เสียใจ และตั้งใจจะกลับคืนดีกับพระ และเพื่อนพี่น้อง เพื่อเป็นเครื่องหมายภายนอกที่เห็นได้ โดยการไปสารภาพบาปกับพระสงฆ์ ผู้เป็นคนคนกลางของพระ และตัวแทนของพระศาสนจักร

ผลของศีลอภัยบาปคือ ทำให้ผู้รับได้กลับคืนดีกับพระ และอยู่ในชีวิตพระหรรษทาน สำนึกถึงความรักของพระ และตั้งใจที่จะปรับปรุง แก้ไข เริ่มต้นใหม่ ให้สมกับความเป็นลูกของพระในความครบครัน

การพิจารณาบาป

สิ่งที่จะเป็นบาป หรือเรียกได้ว่า "เราตกในบาป" คือ

1. เรารู้ว่าสิ่งที่กำลังทำนั้น เป็นสิ่งที่ผิด
2. เต็มใจทำสิ่งที่ผิดนั้น

ประเภทของบาป มี 2 ประเภท คือ

1. บาปหนัก (Mortal Sin)

ซึ่งมีผลทำให้สูญเสียชีวิตพระหรรษทาน การจะเป็นบาปหนัก ต้องประกอบด้วย

1. การกระทำผิดในข้อหนัก
2. รู้ตัวว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผิด
3. ตัดสินใจที่กระทำ

2. บาปเบา (Venial Sin)

ผลของบาปเบา แม้จะไม่สามารถทำลายชีวิตพระหรรษทานในตัวเราแบบบาปหนัก แต่ก็ทำให้ขัดเคืองพระทัยของพระด้วย ทำให้ชีวิตพระในตัวเราอ่อนแอลง และอาจตกในบาปหนักได้ง่าย การจะเป็นบาปเบาต้องประกอบไปด้วย

1. กระทำผิดในข้อเล็กน้อย
2. กระทำผิดในข้อหนัก โดยคิดว่าเป็นข้อเล็กน้อย
3. กระทำผิดในข้อหนักโดยไม่เต็มใจ

การกระทำบาป มี 5 ทาง คือ

1. ทางความคิด พระเจ้าทรงล่วงรู้ความคิดของเรามนุษย์เสมอ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผิดในการที่จะเก็บความคิดที่ไม่ดีไว้

2. ทางความปรารถนา ความปรารถนาในสิ่งที่ไม่ดีก็เป็นบาป

3. ทางวาจา คำพูดที่ไม่ดี คำหยาบ ทะเลาะกัน ด่ากัน นินทา - ใส่ความ สิ่งเหล่านั้นเป็นความผิดทางวาจาทั้งสิ้น

4. ทางการกระทำ กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่นการที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ครู การขโมย การอ่านหนังสือชั่ว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบาปทางการกระทำทั้งสิ้น

5. ทางการละเลย คือการไม่ทำบางอย่าง ซึ่งควรจะต้องทำ

การพิจารณาบาปจากพระบัญญัติพระเจ้า

ประการที่ 1 จงนมัสการพระเจ้าผู้เดียวของเจ้า

- ด้วยความเชื่อ - ความไว้ใจและความรักต่อพระเจ้าในความซื่อสัตย์ และยำเกรงพระเจ้าด้วยความกตัญญูรู้คุณ

ประการที่ 2 อย่าออกนามพระเจ้าโดยไม่สมเหตุ

ไม่กล่าวสาบานในเรื่องเล็กน้อย โดยเอาพระเจ้ามาเป็นพยาน โดยไม่เหมาะสม

ประการที่ 3 วันพระเจ้าอย่าลืมฉลองเป็นวันศักดิ์สิทธิ์

ประการที่ 4 จงนับถือบิดามารดา

ในการให้ความเคารพเชื่อฟัง
กตัญญูรู้คุณ และดูแลเอาใจใส่ท่าน

ประการที่ 5 อย่าฆ่าคน

ไม่โกรธ เกลียด ผูกใจเจ็บ แก้แค้น ด่า ทะเลาะ ตีกัน ทำร้ายร่างกาย และไม่ใช้วาจายุแหย่ให้แตกความรัก ความสามัคคี การทำลายล้างซึ่งกันและกันและไม่เป็นที่สะดุด ทำให้ผู้อื่นต้องสูญเสียวิญญาณไป

ประการที่ 6, 9 อย่าทำลามก อย่าปลงใจในความลามก

ไม่ปล่อยใจคิด และปรารถนาสิ่งที่ผิดต่อความบริสุทธิ์

ประการที่ 7, 10 อย่าลักขโมย อย่ามักได้ทรัพย์ของเรา

- ไม่ทำการขโมย ปล้น แย่งชิง ค้าขายโดยไม่สุจริต
- ไม่เล่นการพนัน มีจิตใจโลภมาก และอยากได้ทรัพย์ผู้อื่น โดยผิดต่อความยุติธรรม

ประการที่ 8 อย่าใส่ความนินทา

- ไม่โกหก ใส่ความนินทา พิพากษาเขาโดยเบาความ
- ไม่เป็นพยานเท็จ

คุณธรรม มโนธรรม และพยศชั่ว (บาปต้น) 7 ประการ

คุณธรรม หรือฤทธิ์กุศล (Virtue)

คือนิสัย หรือความโน้มเอียงในการทำความดี เป็นการเสริมสร้าง หรือพัฒนาความเป็นคนที่สมบูรณ์ ที่มีทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และน้ำใจอิสระ มีความรู้คิด และรู้จักเลือกกระทำในสิ่งที่ถูกต้องสมควร

คุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หรือมีมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากการฝึกฝน ปฏิบัติอยู่เสมอจนเป็นนิสัย กลายเป็นลักษณะประจำตัว หรือธรรมชาตินิสัยของตนเอง เป็นแรงผลักดันส่งเสริมให้เราทำความดี

คุณธรรมมี 2 ประเภท คือ

1 .คุณธรรมเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่พระประทานให้เราตั้งแต่เริ่มต้นที่เรารับศีลล้างบาป คือความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักในจิตวิญญาณ มีสิทธิและศักดิ์ศรีในการเป็นบุตรของพระเจ้า

2. คุณธรรมตามธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนด้วยตนเองทั้งในด้านสติปัญญาและน้ำใจ

ด้านสติปัญญา ได้แก่ ความใฝ่รู้ แสวงหาความเข้าใจ มีสติ มีความสุขุมรอบคอบ ความละอาย

ด้านน้ำใจ ได้แก่ ความสุภาพ อดทน ความเมตตา ใจดี เอื้ออาทร ความรักและเป็นมิต ใจกว้าง เสียสละ รับใช้บริการ รู้จักพอใจ และการรู้จักประมาณตน ฯลฯ

มโนธรรม (Conscience)

คือ ตัวบ่งชี้ ตัดสิน หรือติเตียน ความดี หรือความชั่ว ภายในจิตใจของเราเอง ต่อหน้าพระเจ้า แม้คนอื่นอาจจะไม่รู้ แต่เราเองจะรู้ดี เพราะเป็นเสียงเรียกของพระในจิตใจของเรา

มโนธรรม เป็นของประทานจากพระเจ้า แต่เราสามารถพัฒนาอบรมเรียนรู้ ให้มีความชัดเจน หรือเข้มแข็งขึ้นได้ ปฏิบัติตามเสียงของมโนธรรม ไม่ว่าในด้านพระธรรมคำสอน จริยธรรม หรือกติกาของสังคม เพื่อความดีและความถูกต้อง ทั้งของตนเอง และของส่วนรวม

บาปต้น (Capital Sin) หรือพยศชั่ว 7 ประการ

ตรงข้ามกับ คุณธรรม หรือฤทธิ์กุศล นั่นคือ นิสัยหรือความโน้มเอียงในการทำความชั่ว พยศชั่ว จึงเป็นการบั่นทอง และดึงสภาพที่มีศักดิ์ศรีของความเป็นคน ที่จะเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดี แต่เพราะความอ่อนแอ ตามประสามนุษย์ หากปฏิบัติอยู่เสมอ จะกลายเป็นความเคยชิน หรือเป็นนิสัยที่ไม่ดีติดตัวต่อไปได้ หรือเป็นนิสัยถาวรต่อไปได้

พิจารณาบาปจากพยศชั่ว (บาปต้น) 7 ประการ

1. จองหอง ไม่รู้จัดอดกลั้น - มักใหญ่ใฝ่สูง - ทะเยอทะยาน - เจ้าทิฐิ - ถือดีในตัว - เชื่อภูมิตัวเอง - โอ้อวด - ขี้โม้ - คุยโว - วางมาด - ไม่ต้องการคำแนะนำ - เจ้าอารมณ์ - ถือตัว - โอหัง - เอาแต่ใจตัวเอง - ดื้อรั้น - หมกมุ่นแต่ความขุ่นเคือง - อวดดี - วางท่า - แสนงอน - ใจน้อย - ยโส - ไม่ประมาณตนเอง

2. ตระหนี่ เห็นแก่ตัว - เห็นแก่ได้ - ขาดความเผื่อแผ่ - ใจแคบ - เจ้าอุบาย - หลอกลวง - กักตุน - สะสม - ปกปิดซ่อนเร้น - ขาดเมตตา - ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น - ยึดมั่นถือมั่นในของนอกกาย และในสิ่งของโลก

3. ลามก อยากรู้อยากเห็น - ปล่อยตัวปล่อยใจ - ฝักใฝ่ - หมกมุ่น - ลุ่มหลง - ทั้งความคิด - การอ่าน - การมอง - พาจิตใจให้ฟุ้งซ่าน - ปล่อยความคิดเรื่อยเปื่อย - กิริยาวาจาหยาบโลน - พูดจาส่อเสียด - ไม่รักษาเกียรติและศักดิ์ศรี - แต่งกายล่อแหลม - คิดสกปรก - ปล่อยใจ - ไม่มีใจเป็นอิสระ

4. อิจฉา เกลียดชัง - ซุบซิบนินทาว่าร้าย - กล่ายร้ายป้ายสี - ทำลายเกียรติ - พูดเสียดสี - ประชดประชัน - ดีใจเมื่อคนอื่นเป็นทุกข์เสียใจ - ไม่ชอบเมื่อคนอื่นได้ดีกว่าตนเอง - กลั่นแกล้ง - ปัดแข้งปัดขา - กีดกัน

5. ความโลภ คิดพูดแต่เรื่องอาหาร - เอาแต่เรื่องกิน - จู้จี้ขี้บ่น - ไม่พอใจกับสิ่งที่มี - เน้นการบริโภค - เวลากินไม่สนใจใคร - ไม่ยับยั้งในการกิน การดื่ม - ดื่มเหล้าจนเมามาย - มูมมาม - ตะกละ - ไม่รู้จักพอ - ฝักใฝ่สลวน (สา-ละ-วน) มักได้ตลอดเวลา

6. ความโมโห ความรังเกียจ - ความไม่ชอบ - โกรธด้วยอาการเงียบ - ความไม่พอใจ - ขุ่นเคือง - เดือดดาล - ฉุนเฉียว - อาฆาต - แก้เผ็ด - ไม่สะกดอารมณ์

7. เกียจคร้าน เฉื่อยชา - ชักช้า - ลังเล - เอื่อยเฉื่อย - ไม่ใส่ใจ - ท้อถอย - ขาดความรับผิดชอบ - ไม่สม่ำเสมอ - ตามใจตนเอง - ไม่เอาจริงเอาจัง - ส่งเสริมไม่ขึ้น - เอาแต่สบายง่าย ๆ - ผัดวันประกันพรุ่ง

ข้อปฏิบัติในการรับศีลอภัยบาป

1. สวดภาวนา

เพื่อขอความช่วยเหลือ และรับพระหรรษทานจากพระเจ้า เพื่อจะได้เตรียมตัวแก้บาปอย่างดี สามารถมีความเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างจริงใจ บทภาวนาที่ควรสวดคือ บทร้องหาพระจิต

2. พิจารณาบาป

คือ การสำรวมจิตใจคิดถึงบาป และความผิดที่ได้กระทำตนได้ทำบาปอะไร กี่ครั้ง หนัก - เบาเพียงใด ในการพิจารณาบาป ควรสวดขอความสว่างจากพระจิตเจ้า และพิจารณาบาปตามพระบัญญัติของพระเจ้า พระบัญญัติของพระศาสนจักร บาปต้น 7 ประการ หรือหน้าที่ต่อพระเจ้า หน้าที่ต่อผู้อื่น และหน้าที่ต่อตนเอง

3. เป็นทุกข์ถึงบาป

คือ การสำนึกผิดต่อพระเจ้า เสียใจที่ได้ทำบาป เกลียดชังบาปนั้น และตั้งใจที่จะไม่ทำมันอีก

4. สารภาพบาป

คือ การบอกบาปของตนแก่พระสงฆ์ผู้ฟังแก้บาป เพื่อให้พระสงฆ์ยกบาปให้ การพิจารณาบาป และการเป็นทุกข์ถึงบาป เป็นการเตรียมตัวที่จำเป็นเมื่อไปรับศีลอภัยบาป การสารภาพ เป็นส่วนหนึ่งของศีลอภัยบาป การสารภาพนั้น ต้องเป็นการสารภาพอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งตรงสุภาพ โดยไม่มีการปิดบังบาปแม้แต่ข้อเดียว

5. ทำกิจใช้โทษบาป

เมื่อรู้ตัวว่าทำผิด และเสียใจจริง ๆ ในความผิดนั้น ต้องตั้งใจว่าจะไม่ทำความผิดนั้นอีก และพยายามชดเชยความผิดที่ได้กระทำ การใช้โทษบาป คือ ทำตามที่พระสงฆ์กำหนดให้ หรือจะทำให้มากกว่านั้นก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ จะต้องพยายามตั้งใจเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น

ข้อปฏิบัติเมื่อไปถึงที่ฟังแก้บาป และบทสารภาพบาปกับพระสงฆ์

1. (คุกเข่า) ทำสำคัญมหากางเขน (แล้วกล่าวว่า) "คุณพ่อที่เคารพลูกปรารถนาจะคืนดีกับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้อง ขอคุณพ่อได้โปรดอวยพรให้แก่ลูกด้วย"

2. (พระสงฆ์อวยพรให้แก้ว ต้องแจ้งให้พระสงฆ์ทราบว่า)

"ลูกไม่ได้แก้บาปมานาน......"
(พระสงฆ์ได้ยกบาปให้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ยกบาปให้ เพราะเหตุใด และกิจใช้โทษบาปได้ทำแล้วหรือยัง) (โดยพูดว่า)

"พระสงฆ์ได้ยกบาปแล้ว กิจใช้โทษบาปได้ทำแล้ว

3. (บอกบาปต่าง ๆ ที่ได้กระทำ แก่พระสงฆ์ โดยพูดว่า)

"ลูกได้ทำบาป....(ประมาณ....ครั้ง)" (เมื่อบอกบาปเสร็จแล้ว ให้กล่าวว่า)

"และขอสารภาพบาปอื่น ที่ได้ลืมไป และที่ได้ทำมาตลอดชีวิตด้วย"

4. (เสร็จแล้ว ฟังพระสงฆ์เทศน์เตือนใจ รับกิจใช้โทษบาปที่พระสงฆ์กำหนดให้ และตั้งใจสวดบท "แสดงความทุกข์" ขณะที่พระสงฆ์ยกบาป)

5. (เมื่อสารภาพเสร็จแล้ว) ทำสำคัญมหากางเขน (แล้วกลับมาคุกเข่าที่ที่นั่งในวัด คิดถึงคำเตือนใจของพระสงฆ์ ตั้งใจพยายามจะไม่ทำบาปอีกต่อไป และทำกิจใช้โทษบาป ตามที่พระสงฆ์ได้กำหนดให้)

4. ศีลมหาสนิท (Eucharistic; Communion) หรือพิธีขอบพระคุณ

เป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชน เป็นศีลที่สำคัญที่สุด เป็นองค์พระเยซูเจ้าเอง ที่ประทับอยู่ในศีลมหาสนิท เราทุกคนจึงเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัวเป็นสมาชิก หรือส่วนต่าง ๆ ในพระกายทิพย์ของพระองค์

เครื่องหมายที่สำคัญคือ แผ่นปัง และเหล้าองุ่น ที่เป็นพระกาย และพระโลหิตของพระคริสตเจ้า เราได้รับจากพระสงฆ์ หรือผู้แทนของพระศาสนจักร ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณพระเจ้า

ผลของศีลมหาสนิท ทำให้เราได้รับพระหรรษทานดำรงอยู่ในชีวิตพระเสมอไป

ศีลสมรส (Matrimony) หรือศีลกล่าว

เป็นความรักที่ชายและหญิงมีต่อกัน และรักกันด้วยความรัก สมัครใจโดยไม่ได้ถูกบังคับ และพร้อมที่จะร่วมชีวิตคู่เป็นหนึ่งเดียวในความรักที่หย่าร้างไม่ได้ และซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต เพื่อเป็นพยานถึงความรักของพระ และพร้อมที่จะมอบครอบครัวใหม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระ

เครื่องหมายสำคัญคือ การสวมแหวน และคำกล่าวของคู่บ่าวสาวต่อหน้าพระสงฆ์ผู้แทนของพระศาสนจักร รวมทั้งบรรดาสักขีพยาน ว่าเขาทั้งสองรักกัน และจะซื่อสัตย์ต่อกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ผลของศีลสมรส ทำให้คู่บ่าวสาวเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้อง ต่อหน้าพระ และต่อพระศาสนจักร อยู่ในชีวิตพระหรรษทาน และเป็นครอบครัวคริสตชนใหม่ ที่พร้อมจะให้กำเนิดบุตร ช่วยกันและกันในความบกพร่องเสริมสร้างในสิ่งที่ขาดไปให้แก่กันและกัน ทั้งนี้คู่บ่าวสาวจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระศาสนจักร เพื่อความดี และความรอดของวิญญาณ

6. ศีลบวช (Holy Orders) หรือการถวายตัว

เป็นพระพรแห่งพระกระแสเรียก ที่พระทรงเรียกและเลือกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินชีวิต และมีภารกิจในการเป็นศาสนบริการ พระสงฆ์ของพระคริสตเจ้า ในการประกาศสอนคำสอน การประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ และการบริการปกครองดูแลหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน

เครื่องหมายสำคัญคือ การปกมือของพระสังฆราชเหนือผู้รับศีลบวช ตลอดจนการเจิมน้ำมันคริสมา เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการประทานองค์พระจิตเจ้า เป็นการอภิเษก และมอบอำนาจของการเป็นสงฆ์แห่งศาสนบริการ เพื่อต่องานขององค์พระคริสตเจ้า และการถูกส่งไปเพื่อรับใช้ เป็นผู้ประกาศข่าวดีแห่งความรอด ศีลบวชมี 3 ลำดับขั้น คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร

7. ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick) หรือสำหรับผู้ป่วย

มิใช่เป็นศีลทาสุดท้ายและจะต้องตาย แต่เป็นศีลที่โปรดให้สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนกำลัง หรือกำลังจะสิ้นใจเพื่อเขาจะได้รับพระหรรษทานในยามเจ็บป่วย และเป็นการเตรียมจิตใจ ให้ยึดมั่นในความเชื่อ และเพื่อการฟื้นฟูสภาพทั้งกายและจิตใจ (เทียบ ยก 5: 14-15)

เครื่องหมายสำคัญคือ การเจิมน้ำมันที่หน้าผากและฝ่ามือทั้งสองข้าง เพื่อให้ผู้รับจะได้อยู่ในชีวิตพระหรรษทาน แะเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อ พร้อมที่จะยอมรับความเจ็บปวด และเห็นถึงพระพรในยามเจ็บป่วย มีส่วนร่วมในพระทรมาน และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระคริสตเจ้า ดังนี้น ควรจะให้ผู้ป่วยได้รับในขณะที่รู้ตัว เพื่อการเตรียมจิตใจอย่างดี ทั้งนี้ ผู้รับก็จะสามารถรับศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท ซึ่งถือว่าเป็นศีลเสบียงที่ให้สำหรับผู้ป่วย เพื่อเป็นการเตรียมจิตใจกลับไปหาพระเจ้า ในสภาพของชีวิตพระหรรษทานในความพร้อมของผู้ป่วย

(กลับด้านบน)

 

Free Web Hosting