ภาคสอง: ศีลมหาสนิท l ภาคปิดพิธี l ก่อนที่จะไปร่วมมิสซาฯ l

 

 

การเตรียมถวายเครื่องบูชา (Praeparatio donorum)

"เมื่อเริ่มต้นพิธีกรรมศีลมหาสนิท จะมีการนำเครื่องบูชา ซึ่งจะกลายเป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้ามายังพระแท่น ก่อนอื่นหมดต้องเตรียมพระแท่นหรือ mensa dominica - โต๊ะของพระเจ้า - ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งพิธีกรรมศีลมหาสนิททั้งมวลโดยปูผ้ารองถ้วยกาลิกส์ และหนังสือมิสซาวางบนพระแท่น ครั้นแล้วให้นำของถวายมา เป็นการดียิ่งที่สัตบุรุษเป็นผู้นำแผ่นปังและเหล้าองุ่นมาถวาย พระสงฆ์หรือสังฆานุกรเป็นผู้รับในที่อันเหมาะสมแล้ววางไว้บนพระแท่น แม้ว่าปัจจุบัน สัตบุรุษจะไม่ถวายปังและเหล้าองุ่นที่เขาทำเองเพื่อใช้ในพิธีดังแต่ก่อนแล้วก็ตาม แต่พิธีการนำมาถวายนี้ให้ความหมายที่สำคัญทางฝ่ายจิตใจเงินหรือของถวายอื่นๆ สำหรับคนยากจนหรือสำหรับวัด ที่สัตบุรุษนำมาถวายหรือเรี่ยไรในวัดก็เช่นกัน ให้รับไว้ได้ทั้งนั้น แต่ว่าให้นำไปวางไว้ในที่อันเหมาะสม ไม่ใช่บนโต๊ะศักดิ์สิทธิ์ (พระแท่น) เอง" (I.G.49)

การแห่เครื่องบูชา

การแห่เครื่องบูชามาถวายซึ่งรื้อฟื้นขึ้นมาในมิสซา ปัจจุบันนี้นั้น เป็นการนำเอาธรรมเนียมนำขนมปัง เหล้าองุ่น และของถวายอื่นๆ มายังวัด ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า นักบุญซีเปรียนได้ตำหนิสตรีฐานะดีคนหนึ่ง ที่มักไปวัดโดยไม่มีอะไรมาถวาย และรับศีลมหาสนิทจากขนมปัง ซึ่งคนจนๆ นำมาถวาย ท่านว่า "เธอน่าจะละอายแก่ใจ" (Cyprian, P.L. 4 col.12-613) นอกจากขนมปังและเหล้าองุ่นแล้ว พวกเขายังนำของถวายอื่นๆ มาให้วัดด้วย เช่น น้ำมัน เนย ผลไม้ ผัก ดอกไม้ เป็ด ไก่ เป็นต้น

การนำของมาถวายวัดในเวลามิสซานี้ แต่แรกเริ่มยังหามีการแห่แหนเป็นขบวนอย่างเป็นพิธีรีตรองไม่ เพียงแต่ว่าสังฆานุกร "นำขนมปังและถ้วยบรรจุเหล้าองุ่นผสมน้ำ มาถวายแด่ประธานของบรรดาพี่น้อง" (Justin, I Apologia,67)

การถวายกำยาน

"จะถวายกำยานแด่เครื่องบูชาบนพระแท่นและแด่พระแท่นเองก็ได้ การถวายกำยานหมายถึงเครื่องบูชา และคำภาวนาของพระศาสนจักรลอยไปยังพระผู้เป็นเจ้า" (I.G.51)

การล้างมือ

พิธีล้างมือนั้นมีกำเนิดมาจากประเพณีตะวันออก (ยิว กรีก) และพวกโกล (Gallican) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงการชำระล้างจิตใจ นักบุญซีริลแห่งเยรูซาเล็มพูดถึงเรื่องนี้ในปี ค.ศ.348 ฉะนั้น จงชำระจิตใจด้วย มิใช่เพียงชำระมือที่เปื้อน (เพราะรับของถวาย ฯลฯ) ก่อนถวายบูชาดังที่เชื่อๆ กัน พิธีกรรมโรมันคาทอลิกได้นำเอาพิธีล้างมือของพวกตะวันออกมาใช้ในมิสซา ในคริสตศตวรรษที่ 14 ที่ไม่มีพิธีนี้แต่แรกๆ อาจเป็นเพราะว่าสัญลักษณ์นี้ที่หมายถึงการชำระจิตใจ เป็นสิ่งที่พวกโรมันไม่เคยคิดเช่นนั้นเหมือนกับพวกตะวันออกก็เป็นไปได้

"พระสงฆ์ล้างมือ ซึ่งเป็นพิธีหมายถึงความปรารถนาที่จะชำระจิตใจให้สะอาด" (I.G.52)

คำภาวนาที่พระสงฆ์สวดในขณะล้างมือที่ว่า "โปรดชำระล้างความอธรรมและบาปของข้าพเจ้าให้หมดสิ้นไปเถิดพระเจ้าข้า" นั้น มาจากเพลงสดุดี Miserere(50:4)

พี่น้องจงภาวนาขอให้การถวายบูชา...(Orate fratres....)

คำเชิญชวนนี้มีตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว ในมิสซาโรมันโบราณที่ใช้ในมณฑลของพวกแฟรงค์ แต่เดิมเป็นการชวนเชิญเฉพาะบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่แวดล้อมตัวประธานผู้ถวายมิสซา ใน "มิสซาต่ำ" (Low Masses=มิสซาธรรมดาไม่สง่า) ซึ่งพระสงฆ์ถวายมิสซาเพียงคนเดียว จึงเชิญชวนสัตบุรุษทุกคน เป็นที่เข้าใจกันแต่แรกว่านี่เป็นการเชิญชวนให้ภาวนาในใจ ฉะนั้นในระยะแรกเริ่มจึงไม่มีการตอบรับจากสัตบุรุษเลย

ต่อมา มีการตอบรับด้วยบทต่างๆ กัน เช่น ด้วยเพลงสดุดีที่ 20 เป็นต้นจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งในคำตอบรับนี้ ได้ให้หลักเทววิทยาหลายประการคือ วรรคแรกที่ว่า "ขอพระเจ้าโปรดรับเครื่องบูชาจากท่าน" (ถ้าแปลตามตัวอักษรต้องว่าจากมือของท่าน) นั้น เราสามารถอ้างอิงสังคายนาวาติกันที่2 สมณกฤษฎีกาว่าด้วยการปฏิบัติงานและชีวิตของพระสงฆ์ ข้อ 2 ที่ว่า "ประชากรถวายบูชาโดยอาศัยมือของพระสงฆ์" คำตอบรับวรรคอื่นๆ นั้น บ่งถึงความมุ่งหมาย 2 ประการ ของมหาบูชามิสซา คือ เพื่อเทิดพระเกียรติพระผู้เป็นเจ้า และเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักร (เพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์ทั้งเพื่อประโยชน์ของชาวเรา และพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์ด้วยเทอญ)

บทภาวนาเตรียมเครื่องบูชา (Super oblata)

"บทภาวนาเตรียมเครื่องบูชานี้ เป็นการลงท้ายพิธีเตรียมเครื่องบูชา และนำไปสู่คำภาวนาแห่งศีลมหาสนิทโดยตรง" (I.G.53)

ปรกติคำภาวนานี้เป็นการวอนขอพระเป็นเจ้าได้โปรดรับเครื่องบูชา และขอให้มิสซาเป็นคุณประโยชน์แก่ตัวเรา

คำภาวนาแห่งศีลมหาสนิท หรือบทขอบพระคุณ (Canon หรือ Prex Eucharistica)

เวลานี้เราเข้ามาถึงหัวใจของมหาบูชามิสซาแล้ว คือ "บทขอบพระคุณ" (Prex Eucharistica) ซึ่งเริ่มด้วยการโต้ตอบระหว่างพระสงฆ์กับสัตบุรุษ ตามมาด้วย "บทเริ่มขอบพระคุณ (Praefatio) และจบด้วยบทยอพระเกียรติท้ายบท (doxology) ที่สำคัญว่า "อาศัยพระคริสตเจ้าพร้อมกับพระคริสตเจ้า และในพระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ พระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์กับพระจิตตลอดนิรันดร"

ขณะภาวนาบทขอบพระคุณนี้ เราทำอะไรจริงๆ?

ขอตอบตามคำใน I.G. ว่า "ประชากรร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าในการ (ก) ประกาศผลงานอันยิ่งใหญ่น่าพิศวงของพระเจ้า และ (ข) ถวายบูชา" (I.G.54)

ในเวลารับประทานอาหารอาหารมือสุดท้าย พระเยซูเจ้าทรงถือธรรมเนียมรับประทานอาหารของพวกยิว คือกล่าวบทภาวนา "เหนือ" ขนมปังและถ้วยเหล้าองุ่น พระวรสารบันทึกเรื่องนี้ว่า พระองค์ "กล่าวคำอวยพร" (มธ.และ มก.) หรือ "ขอบพระคุณ" (ลก.และเปาโล) คำภาวนาก่อนอาหารนี้พวกยิวเรียกว่า berakah ซึ่งเราแปลว่า "คำภาวนาขอบพระคุณ" (Prex Eucharistica)

Berakah เป็นคำภาวนาถวายพระพร และขอบพระคุณพระเจ้า ในการที่พระองค์ได้กระทำทุกสิ่งเพื่อมนุษยชาติตลอดประวัติศาสตร์อันยืนยาว พระเยซูเจ้าเองในเวลากล่าวบทภาวนา Berakah นี้ เมื่อครั้งรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายนั้น ยังได้บ่งว่าปังและเหล้าองุ่นนี้เป็นเลือดเนื้อของพระองค์เอง ซึ่งกำลังจะสละเพื่อเป็นบูชาแล้วนั้น ทรงแจกจ่ายขนมปังและเหล้าองุ่นที่กลายเป็นพระกาย และพระโลหิตของพระองค์นั้นให้แก่สาวกทั้งหลายเป็นการให้ความสัมพันธ์อันสนิทแน่นแฟ้นที่สุดกับพวกท่าน การที่พวกสาวกกินและดื่มพระกายและพระโลหิตนี้ เป็นการสนิทสัมพันธ์ในบูชาแห่งการไถ่บาป ซึ่งมีพระเยซูเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าพวกท่าน

ที่บรรยายมาทั้งหมดนี้เป็นสาระสำคัญ เพื่อให้เราเข้าใจถึงมหาบูชามิสซาและการรับศีลมหาสนิท

ในมหาบูชามิสซา เรา "ทำดังนี้" ตามที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ และสั่งสอนให้พวกสาวกทำ พระสงฆ์กระทำเช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ กล่าวคือ กล่าวคำภาวนา berakah สรรเสริญ ขอบพระคุณพระบิดาในนามของประชากรของพระองค์ เป็นการเปล่งเสียงขอบพระคุณและสรรเสริญพระบิดา สำหรับกิจการทั้งมวลอันน่าพิศวงที่พระเจ้าทรงกระทำมา ตราบถึงจุดสุดยอด คือการประทานพระบุตรมากอบกู้เรา ยิ่งกว่านั้น การกอบกู้นี้ได้ "กลายเป็นปัจจุบัน" สำหรับเรา กล่าวอีกนัยหนึ่งกาลเวลาและระยะทาง ซึ่งทำให้เราห่างจากบูชาที่พระเยซูเจ้าทรงถวายเมื่อ 2000 ปีมาแล้วในปาเลสไตน์ ได้ถูก "ดึง" ให้เข้าใกล้เหมือนกล้องส่องทางไกล ฉะนั้น การบูชาของพระองค์มาอยู่เฉพาะหน้าเรา ท่ามกลางเรา ในบัดนี้ พระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงบนไม้กางเขนและรับเกียรติรุ่งโรจน์ได้ปรากฏพระองค์เฉพาะหน้าเรา วอนขอพระบิดาแทนเรา ถวายพระองค์แด่พระบิดา และถวายตัวเราพร้อมกับพระองค์ด้วย การที่เรารับพระกายและดื่มพระโลหิตของพระเยซูคริสตเจ้า ดังที่บรรดาอัครสาวกได้ปฏิบัติมา เป็นการกระทำที่ให้ความสนิทสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในบูชาของพระคริสตเจ้า

"บทขอบพระคุณ" เอง ยังเป็นการประกาศยืนยันถึงศรัทธาที่พระศาสนจักรเชื่อมั่นและต้องการพูดถึงศีลมหาสนิท จึงเป็นจุดรวมแห่งเทววิทยาในด้านศีลมหาสนิทนี้ด้วย

เพราะฉะนั้น เราจึงมี "บทขอบพระคุณ" หลายบทด้วยกัน เพราะว่าไม่มีบทใดสามารถแสดงออกถึงความเข้าใจของพระศาสนจักร เกี่ยวกับศีลมหาสนิทอย่างเพียงพอได้ในทุกๆ แง่มุม

บทโต้ตอบระหว่างพระสงฆ์กับสัตบุรุษ ที่นำ "บทเริ่มขอบพระคุณ" (re-Praefatio)

"พระเจ้าสถิตกับท่าน... จงสำรวมใจคิดถึงพระเจ้า... ให้เราขอบพระคุณพระเจ้าพร้อมกันเถิด..." ทั้งหมดนี้เป็นถ้อยคำอันประเสริฐ และเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี ค.ศ.200 เป็นต้นมา

* "พระเจ้าสถิตกับท่าน" เป็นคำทักทายของคริสตชนดั้งเดิมทีเดียว (ดังได้กล่าวถึงแล้วในภาคนำของพิธีบูชามิสซา) ประโยคทักทายนี้มาจากพระคัมภีร์ (วนฉ.6:12; ลก.1:28) เป็นการยืนยันว่าพระเจ้าสถิตอยู่ท่ามกลางชุมชนที่ร่วมประชุมกัน ณ ที่นั้น

* "จงสำรวมใจคิดถึงพระเจ้า" เป็นคำเชื้อเชิญให้ยกจิตใจไปยัง"พระบัลลังก์แห่งพระหรรษทาน" (ฮบ.4:16) ซึ่งเป็นที่ที่พระเยซูคริสตเจ้ากำลังถวายพิธีกรรมแห่งสวรรค์ โดยถวายพระองค์เองแด่พระบิดาของเรา

* "จงขอบพระคุณพระเจ้าพร้อมกันเถิด" พระเยซูคริสตเจ้าเองทรงปฏิบัติตามธรรมเนียมในสมัยนั้น ขณะรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์ และสั่งให้บรรดาสาวกปฏิบัติสืบต่อมาเป็นการขอบพระคุณ และสรรเสริญพระเป็นเจ้าสำหรับกิจการอันน่าพิศวงของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้ทรงกอบกู้มนุษยชาติ

บทโต้ตอบระหว่างพระสงฆ์กับสัตบุรุษ ที่นำ "บทเริ่มขอบพระคุณ" นี้ จึงเป็นการเตือนเราให้ละสิ่งที่ต้องกังวลสนใจในโลกทั้งหมด และ "ยกใจ" ขึ้นหาสิ่งที่ควรคารวะสูงสุดของเรา เป็นการสรรเสริญ ขอบพระคุณและวอนขอพระบิดาพร้อมกับพระเยซูเจ้าเอง

บทเริ่มขอบพระคุณ (Preafatio)

บทเริ่มขอบพระคุณนี้ ภาษาลาตินเรียกว่า Praefatio (ภาษาอังกฤษ Preface) คำเทคนิคคำนี้มีความหมายมากไปกว่าเป็น "บทนำ" (Introduction) หรือ "บทเริ่ม" ของ "บทขอบพระคุณ" (Eucharistic prayer) เท่านั้น ตามศัพท์ Prae-fari หมายความว่า พูดต่อหน้าคนใดคนหนึ่ง เป็นการประกาศสดุดีและขอบพระคุณพระผู้เป็นเจ้าสำหรับการกระทำอันดีงามของพระองค์เพื่อมนุษยชาติ ในมิสซาโรมันคาทอลิก ปัจจุบันมีบทเริ่มขอบพระคุณนี้ถึง 80 บท เพื่อประกาศคำภาวนานี้ตามโอกาสต่างๆ ที่เหมาะสม ผู้ประกาศคำภาวนานี้คือ พระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี และท่านไม่เพียงแต่ต้องประกาศให้คนทั่วไปได้ยินและเข้าใจเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหน้าที่ที่จะทำให้คำภาวนานี้ "มีชีวิต" ให้เป็นคำภาวนาที่ส่อถึงความหมายภายในจริงๆ ว่าท่านมีความเชื่อ ความยินดี ความสำนึกในพระคุณและความจงรักภักดีต่อพระเจ้าด้วย

บทศักดิ์สิทธิ์ (Sanctus)

เราถือบทเพลงที่ประชาสัตบุรุษถวายสรรเสริญสดุดีพระผู้เป็นเจ้าบทนี้เป็นเพลงสรรเสริญก็ว่าได้ Lucien Deiss นักแต่งเพลงสวดที่ลือชื่อคนหนึ่งของโลกคาทอลิกปัจจุบันกล่าวว่า "ไม่มีเนื้อเพลงใดที่ดีกว่า เหมาะกว่าบทนี้แล้ว" สวรรค์และแผ่นดินต่างร่วมเสียงเป็นหนึ่งเดียวร้องประกาศสดุดีความยิ่งใหญ่และความศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้สร้าง เนื้อร้องท่อนแรกของบทนี้มาจากอิสยาห์ (6:3) ผู้เข้าณาณแล้วได้ยินเสียงเทพเซราฟิมแห่งสวรรค์ร้องเพลง .ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ เสนาธิราชเจ้าสวรรค์" แน่นอน เป็นการบรรยายพิธีกรรมในวิหารในสมัยของท่านประกาศกนั่นเอง ซึ่งเราคริสตชนได้รับมรดกตกทอดมาจากพวกยิว แม้ว่าเพลงนี้จะใช้ขับร้องในคารวกิจต่างๆ ของคริสตชนตั้งแต่โบราณกาลเช่น ในพิธีทำวัตรเช้า เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ใช้ขับร้องในมหาบูชามิสซาเลย จนกระทั้งสมัยหลังๆ ต่อมาเท่านั้น หลักฐานยืนยันว่ามีการนำมาใช้ในมิสซาของพิธีกรรมตะวันตกราว ค.ศ.400

บทวอนขอพระจิต (บทแรก) (I Epiclesis)

Epiclesis มาจากคำกรีก แปลว่า "วอนขอ" เป็นการวอนขอพระจิตเจ้าเสด็จมาเหนือเครื่องบูชา หรือขอพระบิดา โปรดให้การเสกศีลมหาสนิทเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยฤทธิ์อำนาจจากพระจิต

การบรรยายถึงการตั้งศีลมหาสนิท (Narratio Institutions)

ตามที่ I.G. ว่าไว้ บทนี้ "ทำให้เห็นภาพพจน์ของพระวาจา และการกระทำของพระคริสตเจ้าในเวลารับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ซึ่งเป็นการที่พระองค์เองได้ตั้งศีลแห่งพระมหาทรมานและการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ เมื่อทรงมอบพระกายและพระโลหิตในรูปปรากฏให้เห็นเป็นปึกแผ่น ปังและเหล้าองุ่น ให้บรรดาอัครสาวกรับประทานและดื่มพร้อมกับทรงสั่งให้กระทำสิ่งอันเป็นธรรมล้ำลึกนี้ต่อๆ ไป" (I.G.55d)

จากบทสรุปประกาศยืนยันในเรื่องนี้ เป็นที่เห็นชัดแจ้งแล้วว่า ภาคนี้มีจุดประสงค์อย่างไร

การประกาศยืนยันธรรมล้ำลึกแห่งศรัทธา

ตอนนี้เป็นตอนที่สัตบุรุษมีส่วนในการประกาศโดยตรง สัตบุรุษร้องยืนยันสิ่งที่พระสงฆ์พูดและกระทำในนามของพวกเขา "พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์ พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพ พระคริสตเจ้าจะเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่ง หรือถ้อยคำอื่นๆ นั้นไม่เพียงแต่เป็นวลีแห่งความเชื่อต่อการประทับของพระคริสตเจ้า ณ ที่นั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการประกาศยืนยันศรัทธาและความหวังใน "ธรรมล้ำลึกแห่งความเชื่อ" ทั้งหมดด้วย กล่าวคือ แผนการกอบกู้โลกทั้งมวลของพระเป็นเจ้า ซึ่งสำเร็จลงในขั้นสุดยอดแห่งพระมหาทรมาน และการกลับคืนพระชนม์ชีพ การเสด็จสู่สวรรค์และการจะเสด็จกลับมาครั้งสุดท้ายของพระคริสตเจ้าอย่างรุ่งโรจน์

บทระลึกถึง (Anamnesis)

ในเวลารับประทานค่ำมื้อสุดท้าย พระเยซูเจ้าตรัสว่า "จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด" พระองค์ใช้คำว่า Zikkaran ซึ่งแปลว่า "เป็นที่ระลึกถึง" หรือในภาษากรีกว่า Anamnesis คำที่พระองค์ใช้นี้มีความหมายเฉพาะว่าเป็นการ "หวนระลึกถึง" และทำให้เหตุการณ์ในอดีตกลายเป็นปัจจุบันด้วย (หรือที่ภาษาอังกฤษว่า actualising) การเปล่งพระวาจา "เสกศีล) ในมหาบูชามิสซานั้น เป็นการไม่เพียงแต่หวนระลึกถึงเหตุการณ์ยิ่งใหญ่แห่งชีวิตของพระเยซูเจ้า คือพระทรมาน การกลับคืนพระชนม์ชีพ และการเสด็จสู่สวรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้เป็นปัจจุบัน (actualise) ในเวลานั้นด้วย ในภาคระลึกถึงนี้ เราปฏิบัติตามคำสั่งของพระอาจารย์เจ้าให้กระทำดังนั้นเป็นการระลึกถึงพระองค์

บทถวายยัญบูชา (Oblatio)

ภาคนี้พูดถึงการถวายยัญบูชาของพระคริสตเจ้าและของพระศาสนจักร ต่อจาก "บทระลึกถึง" ดังต่อไปนี้

"....ขอน้อมถวายปังอันทรงชีวิต กับถ้วยโลหิตอันบันดาลความรอดนี้แด่พระองค์ ขอขอบพระคุณพระองค์ที่ทรงให้เข้าเฝ้ารับใช้พระองค์" (บทขอบพระคุณที่ 2)

บทวอนขอพระจิต (บทที่ 2) (II Epiclesis)

การวอนขอพระจิตหนที่สองในบูชามิสซานั้น เป็นการวอนขอพระองค์ได้โปรดรวบรวมทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จากผลของการรับศีลมหาสนิท หรือขอให้ศีลมหาสนิทได้ทำให้ชีวิตของเราเกิดผล ดังนี้ "ข้าพเจ้าทั้งหลายกราบอ้อนวอน โปรดให้พระจิตเจ้าทรงรวบรวมทุกคนที่รับพระกายและพระโลหิตแล้ว ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน" (บทขอบพระคุณที่ 2)

บทเสนอวิงวอน (Intercessiones)

มหาบูชาเป็นการถวายของพระศาสนจักรทั้งมวล พระศาสนจักรแต่ละท้องที่ที่ถวายมิสซานั้น ต่างผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรทั่วโลก รวมทั้งพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วด้วย เรื่องนี้พระศาสนจักรได้เน้นโดยเฉพาะในภาคนี้เองดังนี้

"ขอทรงระลึกถึงพระศาสนจักรที่กระจายอยู่ทั่วโลก โปรดให้มีความรักสมบูรณ์ พร้อมกับสมเด็จพระสันตะปาปา....พระสังฆราช.... ตลอดจนคณะสงฆ์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า ขอทรงระลึกถึงพี่น้องที่ได้หลับไปแล้วทุกคน โปรดนำเขาเข้าชมพระบารมีด้วยเถิด ที่สุด ขอทรงพระกรุณาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายสมควรมีส่วนในชีวิตนิรันดรกับพระนางพรหมจารีย์ พระชนนีพระเป็นเจ้า กับบรรดาอัครสาวกและนักบุญทุกท่าน" (บทขอบพระคุณที่ 2)

บทยอพระเกียรติท้ายบท (doxologia finlis)

"อาศัยพระคริสตเจ้า พร้อมกับพระคริสตเจ้า และในพระคริสตเจ้า ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ พระองค์ทรงพระสิริรุ่งโรจน์กับพระจิตตลอดนิรันดร"

เป็นบทสดุดีพระตรีเอกภาพ เรากราบนมัสการพระบิดาโดยทางหรืออาศัยพระคริสตเจ้าผู้เป็นคนกลาง พระคริสตเจ้าผู้เป็นเครื่องบูชาและผู้ถวาย ในพระคริสตเจ้านั่นคือเราอาศัยในพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลแห่งการรับศีลมหาสนิท

การที่พระสงฆ์ยกจานรองแผ่นศีลฯ และถ้วยพระโลหิตชูขึ้นขณะกล่าวบทยอพระเกียรติท้ายบทนี้นั้น เป็นการเน้น และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบทยอพระเกียรติท้ายบทขอบพระคุณอันสำคัญนั่นเอง

อาแมน

คำว่า "อาแมน" เป็นการประกาศยืนยันทุกสิ่งที่พระสงฆ์ได้พูดและกระทำในนามของประชาสัตบุรุษ คำนี้คริสตชนได้ใช้มาตั้งแต่สมัยแรกๆ นักบุญยุสติน (ค.ศ.150) ได้กล่าวถึงใน I Apologia,65 ว่า เมื่อจบบทขอบพระคุณแล้ว สัตบุรุษทุกคนที่ประชุมอยู่ต่างเปล่งเสียงรับรองว่า "อาแมน" นักบุญเยโรม บรรยายว่า "อาแมน" เป็นคำสำคัญที่ใช้เหมือนกับเสียงปรบมือดังสนั่นหวั่นไหวในพระวิหารเก่าแก่ ฉะนั้น เราควรใช้คำว่า "อาแมน" ด้วยความรู้สึกและรู้สึกอย่างลึกซึ้งในคำนี้

ตอบรับศีลมหาสนิท

บทนำบทข้าแต่พระบิดา

ก่อนจะสวดบทภาวนาที่สำคัญนี้ พระสงฆ์จะเชิญชวนสัตบุรุษด้วยถ้อยคำทำนองนี้

"พระเยซูเจ้าทรงสอนเรา ให้เรียกพระเป็นเจ้าเป็นพระบิดา เราจึงภาวนาว่า"

"ให้เราภาวนา ตามที่พระคริสตเจ้าทรงสอน"

"พระเจ้าทรงรักเรามาก ถึงกับโปรดให้เราได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระองค์ แล้วเราก็เป็นเช่นนั้นจริง เราจึงภาวนาด้วยความมั่นใจว่า"

สำหรับการใช้ถอยคำชักชวนทั้งสามแบบ ซึ่งมีอยู่ในหนังสือ "บทประจำมิสซา" นั้น เป็นแต่เพียงแนวทางและตัวอย่างเท่านั้น ผู้ถวายมิสวาไม่จำต้องใช้ทุกคำทุกประโยคอย่างตายตัว เพื่อมิให้ซ้ำซากอาจใช้ถ้อยคำอื่นๆ ที่เหมาะสม

บทข้าแต่พระบิดา

บทข้าแต่พระบิดา เป็นบทภาวนาดั้งเดิมที่คริสตชนนำมาใช้ในพิธีบูชามิสซาประมาณ 1600 ปีมาแล้ว แม้ว่าหลักฐานที่ปรากฏชัดแจ้งจริงๆ จะมีในราว ค.ศ.400 นักประวัติศาสตร์หลายท่านยังสันนิษฐานว่าอาจมีในมิสซาในสมัยของนักบุญซีเปรียนแล้วก็ได้ (ค.ศ.258) Oscar Cullmann ยังคิดว่าบทข้าแต่พระบิดานี้เป็นส่วนหนึ่งของมิสซาตั้งแต่คริสตศตวรรษแรก จากบทสรุปของการลงท้ายบทภาวนา (doxologia) หรือการร้องรับถวายสรรเสริญในพิธีกรรม ในหนังสือ Didache ก็มีบทข้าแต่พระบิดาปรากฏอยู่แล้ว

น่าใส่ใจในคำอ้อนวอนขอสองอย่างในบทข้าแต่พระบิดานี้ ซึ่งทำให้เป็นบทภาวนาที่เหมาะสมเป็นพิเศษสำหรับคำภาวนาก่อนรับศีลมหาสนิท นั่นคือ

"ขอประทานอาหารประจำวัน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้" นักปราชญ์ทางพระคัมภีร์ยังถกกันถึงความหมายที่แท้จริงของวลีที่ว่า "อาหารประจำวัน" อยู่ J.Jeremias เข้าใจว่าวลีนี้หมายถึงความกระหายอยากรับอาหารนี้อย่างสมบูรณ์แบบในโลกหน้า (Eschatological sense) คือปังที่ให้ชีวิตนิรันดร ซึ่งรวมทุกสิ่งที่เราประสงค์ ณ บัดนี้ด้วย ทั้งฝ่ายกายฝ่ายวิญญาญ การนำเอาอ้อนวอนขอเช่นนี้ในบทภาวนาในมิสซา จึงหมายถึงอาหารที่เป็นปังแห่งศีลมหาสนิทโดยตรง บรรดาปิตาจารย์ส่วนใหญ่ก็อธิบายความหมายของ "อาหาร" ในบทข้าแต่พระบิดานี้ ในแง่ที่เป็นปังแห่งศีลมหาสนิทเช่นกัน

"โปรดยกโทษข้าพเจ้า เหมือนข้าพเจ้ายกให้ผู้อื่น" การยกโทษให้แก่กันนั้น เป็นเงื่อนไขที่พระผู้เป็นเจ้าจะรับเครื่องบูชาจากเรา คริสตชนรุ่นแรกได้ใส่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ว่าจะต้องมีความรักและการยกโทษให้กันและกัน จากหนังสือคำสอนชื่อ Didache (ราว ค.ศ.100) ได้สะท้อนให้เห็นแนวปฏิบัติเช่นนี้ว่า "ใครที่มีเรื่องบาดหมางกัน จงอย่าให้เข้ามาร่วมประชุมกันกับท่าน (ในมหาบูชามิสซา) จนกว่าเขาจะคืนดีกันเสียก่อน มิฉะนันเขาจะทำให้บูชาของท่านมีมลทิน"

บทภาวนาของพระสงฆ์ที่ต่อเนื่องจากบทข้าแต่พระบิดา (embolism) ที่ว่า "โปรดเถิดพระเจ้าข้า โปรดช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้พ้นภยันตรายทั้งสิ้น" นั้น ในบทเก่าแก่ดั้งเดิมของพิธีโรมันคาทอลิก มีการวอนขอพระนางมารีอาอัครสาวกเปโตรและเปาโล อันดรูว์ และนักบุญทั้งหลายเสนอวิงวอนช่วยด้วย ปัจจุบันได้ตัดออกหมด เพื่อให้สั้นลงแต่ได้เติมวรรคที่มีความหมายกินใจในบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงทิตัสว่า "ขณะที่หวังจะได้รับความสุขและรอรับเสด็จพระเยซูคริสตเจ้า พระผู้กอบกู้ข้าพเจ้าทั้งหลาย"

วลีลงท้าย (doxologia) ที่ว่า "เหตุว่า พระอาณาจักรพระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร" นั้น เป็นการแสดงถึงความหวังและความสุขของคริสตชน

พิธีมอบสันติสุข (Ritus pacis)

"ข้าแต่พระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ตรัสกับอัครสาวกว่า เรามอบสันติสุขให้ท่าน เราให้สันติสุขของเราแก่ท่าน..."

คำภาวนานี้เป็นคำภาวนาเพื่อสันติสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกัน คำว่า "สันติสุข" ในที่นี้ มีความหมายทางพระคัมภีร์ ซึ่งลึกซึ้งกว้างไกลกว่าความหมายตามธรรมดามาก คือหมายถึงฐานะของบุคคลซึ่งดำเนินชีวิตอย่างเหมาะเจอะสอดคล้องกับตนเอง กับธรรมชาติ กับกลุ่มคริสตชน และกับพระผู้เป็นเจ้า

"สามัคคีธรรม" หรือความเป็นหนึ่งเดียวกันในคำภาวนาของบทนี้เป็นสิ่งที่เราวอนขอเพื่อสร้างพระศาสนจักรของเรา "เป็นผลอันวิเศษแห่งศีลมหาสนิท" ดังที่นักบุญโทมัส อไควนัส ได้พูดถึงเมื่อ 700 ปีมาแล้ว

กิริยาอาการที่ตามมาในพิธีนี้คือ การมอบสันติสุขแก่กันในพิธีนี้ ไม่ใช่การคำนับทักทายกัน ต้อนรับกัน หรือสวัสดี (hello) หรือหมายความว่า เป็นโอกาสที่จะจับมือกันเช่นในงานพบปะสังสรรค์ แต่มีความหมายยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นว่า เป็นคำภาวนาและเครื่องหมาย (Prayer and sign) เป็นการขอคืนดีกัน และมอบสันติสุขแก่กันอย่างจริงใจในโอกาสมาร่วมชุมนุมกันถวายบูชามิสซา และรับศีลมหาสนิท พิธีมอบสันติสุขนี้ในประเทศไทยเราใช้วิธีไหว้กัน ตามขนบธรรมเนียมของเรา

การบิแผ่นศีลและ "ลูกแกะพระเจ้า" (gnus Dei)

การบิแผ่นศีลมหาสนิท เป็นกิริยาอาการที่ให้ความหมายสำคัญยิ่งกว่าในมหาบูชามิสซา เพราะดังที่เราทราบมาแล้ว ในสมัยเริ่มแรกแห่งพระศาสนจักร คำว่า "พิธีบิปัง" หมายถึงมหาบูชามิสซาเอง การบิแผ่นปังหรือแผ่นศีลนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการกระทำตามที่พระคริสตเจ้าทรงกระทำในเวลารับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งคริสตชนจะต้องเป็นเช่นนั้น การบิแผ่นศีลออกเป็นหลายส่วน และการที่สัตบุรุษอย่างน้อยบางคนได้รับศีลมหาสนิทจากแผ่นปังที่ถูกบิออกนั้น ให้ความหมายสมตามที่นักบุญ เปาโล สั่งสอนว่า "พวกเราแม้ว่าจะมีหลายคน แต่เป็นกายเดียวกัน เหตุว่าเรามีส่วนในปังก้อนเดียวกัน" (1 คร.10:17) ใน I.G.283 จึงบ่งว่าให้พระสงฆ์ใช้แผ่นศีลขนาดใหญ่พอที่จะบิแบ่งให้สัตบุรุษอย่างน้อยบางคนได้

เพลง "ลูกแกะพระเจ้า" (Agnus dei) นั้นเป็นเพลง (หรือการสวด) "ประกอบการบิศีลมหาสนิท" เพราะฉะนั้น เพลงนี้จะขับร้องซ้ำๆ นานเท่าใดก็ได้ ตราบใดที่การบิศีลมหาสนิทยังไม่เสร็จ (โดยเฉพาะในสหบูชามิสซา)

เพลงนี้ (มาจาก ยน.1:29,36 วว.5:6,13:18) เป็นการวอนขอต่อลูกแกะพระเจ้า ผู้ยกบาปของโลก ด้วยการถวายองค์เป็นบูชานิรันดรโดยถูกฆ่าบูชายัญ สมเด็จพระสันตถปาปา Sergius I (ค.ศ.687-701) ทรงกำหนดให้นำเพลงนี้มาใช้ในพิธีบูชามิสซาทั่วไปในกรุงโรม

การที่พระสงฆ์บิแผ่นศีลเล็กๆ แล้วหย่อนเศษลงในถ้วยกาลิกส์บรรจุพระโลหิตนั้น หมายถึงการรวมเป็นหนึ่งเดียวแห่งพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ผู้กลับคืนพระชนม์ชีพและประทับอยู่ท่ามกลางเรา

"นี่คือลูกแกะพระเจ้า..."

"พระสงฆ์ชูแผ่นศีลมหาสนิทที่บรรดาสัตบุรุษจะได้รับให้แลเห็น และเชิญชวนให้มาร่วมในงานเลี้ยง (โต๊ะศักดิ์สิทธิ์) ของพระคริสตเจ้า พร้อมกับสัตบุรุษ พระสงฆ์เองเตือนใจให้มีความสุภาพถ่อมตน โดยใช้ถ้อยคำที่มาจากพระวรสาร" (I.G.56f)

เราทราบว่าถ้อยคำจากพระวรสารเป็นพระวาจาอันประเสริฐ เป็นพระวาจาของพระเจ้าเอง ให้ความหมายที่ลึกซึ้ง ในบูชามิสซาได้นำถ้อยคำมาจากพระวรสาร หรือจากพระคัมภีร์มากมายหลายตอนด้วยกัน

สัตบุรุษน่าจะไ้ดรับการเรียนรู้หรือคำอธิบายว่า "ลูกแกะพระเจ้า" ตามความหมายพระวรสาร หมายถึงอะไรและมีความหมายลึกแค่ไหน เช่นว่าพระองค์เป็นลูกแกะบริสุทธิ์ที่ถูกฆ่าบูชายัญเพราะบาปของเรา

ประโยค "นี่คือลูกแกะพระเจ้า..." นี้ มาจาก (ยน 1:3-6 (นักบุญยอห์น บัปติสต์ ชี้ให้บรรดาสานุศิษย์ทราบถึงองค์พระผู้กอบกู้ที่เสด็จมา)

ประโยคต่อมาที่ว่า "เป็นบุญของผู้รับเชิญมาร่วมงานเลี้ยงของพระองค์" นั้น เป็นการอ้างอิง วว.19:9

สัตบุรุษตอบรับด้วยความสุภาพถ่อมตนโดยใช้ถ้อยคำจากพระวรสารว่า "พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรจะรับเสด็จมาในตัวข้าพเจ้า แต่ขอตรัสเพียงพระวาจาเดียว แล้วจิตใจข้าพเจ้าก็จะบริสุทธิ์" (มธ.8:9)

การรับศีลมหาสนิท

การรับศีลมหาสนิทนี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งในบูชามิสซา ผู้ที่มาร่วมถวายบูชามิสซาแต่ไม่รับศีลมหาสนิท ก็เปรียบเสมือนผู้มาในงานเลี้ยงแต่ไม่รับประทานอาหารนั่นเอง

การรับศีลมหาสนิทให้ความหมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ

เป็นการร่วมสนิท เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระคริสตเจ้า

เป็นการร่วมมีส่วนในงานกอบกู้ของพระคริสตเจ้า

เป็นการร่วมสนิทสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตศาสนิกชนด้วยกัน

ใน I.G.56h กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เป็นที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งให้สัตบุรุษรับพระกายจากแผ่นศีลที่เสกในมิสซา และร่วมรับพระโลหิตตามโอกาสที่ระบุไว้แล้ว เพื่อให้การรับศีลมหาสนิทเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยทางเครื่องหมายแสดงนี้ ด้วยว่าเป็นการร่วมมีส่วนในมิสซาซึ่งกำลังถวายอยู่เวลานั้นจริงๆ"

คำที่พระสงฆ์เอ่ยขณะยื่นศีลมหาสนิทให้สัตบุรุษว่า "พระกายพระคริสตเจ้า - พระโลหิตพระคริสตเจ้า" และสัตบุรุษตอบ "อาแมน" นั้น เป็นแบบพูดที่เก่าแก่ดั้งเดิมมาทีเดียว เราพบในงานเขียนของนักบุญซีริลแห่งเยรูซาเล็ม (ในภาคตะวันออก) และนักบุญอัมโบรสิโอ (ในภาคตะวันตก) ราวคริสตศตวรรษที่ 3

วิธีการรับศีลมหาสนิทมีต่างๆ กันตามกาลเวลาที่ผ่านมา หลักฐานเก่าแก่ที่ยืนยันถึงเรื่องนี้กล่าวว่า สัตบุรุษยืนและรับศีลมหาสนิทโดยยื่นมือออกรับ (จากพระสงฆ์) และดื่มโลหิตากถ้วยกาลิกส์...ตั้งแต่คริสตวรรษที่ 9 เป็นต้นมา ในภาคตะวันตกกำหนดให้รับศีลมหาสนิท ด้วยการอ้าปากรับโดยตรงเท่านั้น (เพื่อป้องกันการนำศีลมหาสนิทออกไปทำทุราจารต่างๆ เป็นต้น) ในคริสตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา เริ่มมีธรรมเนียมคุกเข่ารับศีลมหาสนิท

ปัจจุบันนี้ วิธีการรับศีลมหาสนิทและความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปอีกตามกาลเวลา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางยุโรป) ตามสัตบุรุษนิยมรับศีลมหาสนิทด้วยการยื่นมือออกรับและยืน (โดยอ้างว่าการยืนสะดวก (practical) กว่าขณะเดินเข้าแถวมารับ พลางร้องเพลง) ซึ่งวิธีการเช่นนี้เป็นการนำเอาวิธีการแบบดั้งเดิมมาใช้อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง หาใช่วิธีการใหม่ไม่ ทั้งมีความเห้นด้วยว่าการรับศีลมหาสนิทด้วยการยื่นมือออกรับนั้น เป็นวิธีธรรมชาติ (มากกว่าการอ้าปากรับ) และเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้สัตบุรุษระลึกว่า ศีลมหาสนิทเป็นอาหาร)

ภาวนาในใจหลังรับศีลมหาสนิท

"เมื่อเสร็จจากการรับศีลมหาสนิทแล้ว พระสงฆ์และสัตบุรุษภาวนาในใจสักครู่หนึ่ง ถ้ามีเวลา (โอกาส) นอกนั้นอาจจะขับร้องทั้งวัดด้วยบทเพลง เพลงสดุดี หรือเพลง Hymn ก็ได้" (I.G.56j)

ในภาคนี้ ควรจะปฏิบัติต่างๆ กันไป เช่นวันหนึ่งร้องเพลงสดุดี อีกวันภาวนาเงียบๆ ในใจสลับกันไป ทั้งนี้เพื่อมิให้พิธีเป็นไปอย่างซ้ำซากจำเจ

บางครั้งความเงียบเป็นสิ่งที่จำเป็นและถือว่าเป็นการร่วมมีส่วนอย่างจริงจัง (active) ไม่แพ้การขับร้องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความอึกทึกวุ่นวายรอบข้าง แม้แต่ในพิธีกรรมเอง บางครั้งเราก็แทบไม่มี "เวลาหายใจ" กัน เพราะต้องภาวนา ขับร้องติดต่อกันตลอดเวลา แต่แน่นอน การถือเงียบในที่นี้ก็เพื่อจะภาวนาในใจกับพระผู้เป็นเจ้า มิใช่เพื่อความสงบหรือพักจิตใจเฉยๆ หรือเพื่อคิดถึงเรื่องอื่น

บทภาวนาหลังรับศีลมหาสนิท (Post Communionem)

"พระสงฆ์สวดบทภาวนาหลังรับศีลมหาสนิท เพื่อขอให้ได้รับผลจากการถวายบูชานี้ สัตบุรุษสวดภาวนาบทนี้โดยร้องรับ "อาแมน" (I.G.56k)

สังเกตว่า คำลงท้ายของบทภาวนานี้ เป็นแบบคำลงท้ายแบบสั้นเสมอ ตามประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว คือ "ทั้งนี้ขอพึ่งพระบารมีพระคริสตเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย"

 

 

 

ภาคปิดพิธี

 

 

การประกาศต่างๆ

ถ้าหากทางวัดต้องการประกาศอะไร ก็ทำได้ในตอนนี้ (ไม่ใช่ประกาศตอนเทศน์หรือหลังเทศน์) ใน I.G.123 บ่งว่า "ถ้าหากมีการประกาศอะไรสั้นๆ ในตอนนี้ ก็ทำได้ หลังสวดบทภาวนาหลังรับศีลมหาสนิทแล้ว"

คำอำลา อวยพร และปิดพิธี

พระสงฆ์กล่าวคำอำลาสัตบุรุษว่า พระเจ้าสถิตกับท่าน สัตบุรุษตอบว่า และสถิตกับท่านด้วย ครั้นแล้ว พระสงฆ์ กล่าวต่อว่า ขอพระผู้ทรงสรรพานุภาพ พร้อมกับทำเครื่องหมายกางเขน พระบิดา และพระบุตร และพระจิต ประทานพระพรแก่ท่าน ตอบ อาแมน พระสงฆ์กล่าวต่อไปว่า พิธีสิ้นสุดแล้ว (Ite missa est) สัตบุรุษตอบ ขอขอบพระคุณพระเป็นเจ้า

top

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนที่จะไปร่วมถวายบูชามิสซา

เป็นการดีที่เราจะวางแผนให้ไปถึงวัดก่อนเริ่มพิธีพอสมควร (สัก 10 นาทีก็กำลังเหมาะ) และถ้าวัดนั้นมีมิสซาหลายมิสซาให้เลือก ท่านก็ควรเลือกไปมิสซาในช่วงที่ท่านจะไปวัดโดยไม่ต้องรีบร้อน จะไม่สายเกินไปและไม่ต้องมีเหตุที่ทำให้ต้องรีบออกจากวัดด้วย

ท่านอาจถือธรรมเนียมการจุ่มมือลงในที่ใส่น้ำเสกเพื่อทำสำคัญมหากางเขน นี่เป็นธรรมเนียมของพระศาสนจักร เตือนให้เราระลึกถึงศีลล้างบาปในองค์พระคริสตเจ้าที่เราได้รับ และในชีวิตที่ปราศจากบาปของพระคริสตเจ้าที่เรากำลังดำเนินอยู่ และเรากำลังจะปฏิบัติหน้าที่พร้อมกับกลุ่มคริสตชนของวัดเรา ถ้าหากว่าในวัดมีศีลมหาสนิท (เครื่องหมายที่เราควรสังเกตุคือ "ตะเกียง" หรือโคมไฟ) ท่านก็ควรที่จะกราบที่ม้านั่ง นี่เป็นเครื่องหมายภายนอกที่แสดงความเคารพต่อพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท ท่านจะต้องทำด้วยความตั้งใจ เพื่อแสดงความเคารพ ควรจะกราบต่อหน้า (หรือหันไปทาง) ศีลมหาสนิท และถ้าหากว่าการถวายบูชามิสซากระทำในหอประชุมหรือสถานที่อื่น ซึ่งไม่มีศีลมหาสนิท ท่านก็ควรจะโค้งคำนับหรือไหว้กางเขนก็เพียงพอแล้ว

ควรนั่งที่ไหน?

ควรเลือกที่นั่งที่จะมีโอกาสดีที่สุดในการร่วมถวายบูชามิสซาอย่างดี คือ แถวหน้าๆ เพื่อจะได้เห็น ฟังและร่วมถวายได้อย่างดี เมื่อเข้าไปถึงที่นั่งแล้ว คุกเข่าภาวนาสักครู่หนึ่งก่อนที่จะนั่ง นี่เป็นเวลาอันมีค่าสำหรับเราที่จะภาวนาในบ้านของพระเป็นเจ้า ถ้าหากว่าท่านยังไม่ได้ภาวนาตอนเข้า ก็เป็นโอกาสเหมาะที่จะทำเช่นนั้น ตามรูปแบบที่เคยทำ คือ นมัสการ ขอบพระคุณ แสดงความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก พร้อมทั้งความตั้งใจที่จะเจริญชีวิตตามพระคริสตเจ้า และเพื่อคารวกิจได้อย่างดี

ต่อจากนั้นก็เป็นเวลาที่เราจะต้องเตรียมตัว เพื่อร่วมพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ท่านคงต้องการความช่วยเหลือจาก "หนังสือมิสซาเล่มเล็ก" หรือจากสารของวัด โดยปรกติแล้ว หนังสือเหล่านี้จะอธิบายเนื้อหาทั่วๆ ไป หรือบทอ่านต่างๆ ของมิสซาในวันนั้น จงอ่าน และถ้าหากยังมีเวลาเหลืออยู่ ก็ให้อ่านบทอ่านต่างๆ ของมิสซา เริ่มด้วยบทพระวรสาร และบทภาวนาของพระสงฆ์ การเตรียมตัวเช่นนี้จะช่วยท่านอย่างมากทีเดียวในการร่วมถวายมิสซาด้วยความตั้งใจ และบังเกิดผลประโยชน์

เมื่อไปร่วมถวายบูชามิสซาในวันอาทิตย์ไม่ได้

คริสตชนผู้มีใจศรัทธา จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถวายคารวกิจแด่พระเป็นเจ้าเป็นหมู่คณะในวันอาทิตย์ และวันฉลองบังคับ พวกเราเป็นกลุ่มมากกว่าการเป็นส่วนบุคคล พวกเราเป็นประชากรของพระเป็นเจ้า เรานมัสการพระองค์พร้อมกับคนอื่นๆ โดยการร่วมถวายบูชามิสซา เราก็ให้พละกำลังแก่พี่น้องของเราในองค์พระคริสตเจ้า

แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางโอกาสในชีวิตของเรา เมื่อไม่สามารถที่จะไปร่วมถวายมิสซาในวันอาทิตย์ได้ อาจเป็นได้ว่า ในช่วงสุดสัปดาห์นั้นเราอาจจะอยู่ในที่ห่างไกล แม้ว่าจะพยายามหาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีวัดคริสตชนหรือพระสงฆ์อยู่ในบริเวณนั้น หรือเราอาจจะอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลายาวนาน หรืออาจเป็นเพราะความชรา หรือดินฟ้าอากาศ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถออกจากบ้านได้

ท่านจะทำอย่างไร ในวันอาทิตย์หรือวันฉลองบังคับที่ท่านไม่อาจจะไปร่วมถวายมิสซาได้?

แน่นอนท่านก็ต้องนมัสการพระเป็นเจ้า เพราะว่านี่เป็นวันพระเจ้า ให้การนมัสการนี้เป็นไปในรูปแบบของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในกรณีเช่นนี้นั้น

วิธีการที่หนึ่ง ในบางแห่ง มีมิสซาวันอาทิตย์แบบ "วงจรปิด" ในโทรทัศน์ ซึ่งจะช่วยได้มากในการนมัสการพระเป็นเจ้า แม้ว่าท่านจะถูกแยกออกจากกลุ่มคริสตชนของท่าน

วิธีการที่สอง ที่อาจช่วยได้ดีก็คือ การใช้หนังสือมิสซาเล่มเล็กที่เรามีอยู่ ปฏิบัติตัวดังนี้

  1. สำรวมตัว (หรือกลุ่ม) เฉพาะพระพักตร์พระเป็นเจ้าในวันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
  2. สวดบทสารภาพบาปตามหนังสือมิสซา เพื่อแสดงความทุกข์ถึงบาปของเรา
  3. สวดบท "พระสิริรุ่งโรจน์" เพื่อเป็นการสรรเสริญพระตรีเอกภาพ
  4. อ่านบทอ่านทั้งสามบทของมิสซาวันฉลองด้วยความตั้งใจ พิจารณาดูว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร
  5. สวดบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า สัญลักษณ์แห่งความเชื่อของเรา
  6. สวดเพื่อจุดประสงค์พิเศษ - ของพระศาสนจักร ของประเทศ ของมนุษยชาติ สำหรับผู้ล่วงลับฯลฯ
  7. สวดบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย
  8. จบด้วยการภาวนาบทสุดท้ายถึงแม่พระ

เนื่องจากว่าเป็นความจำเป็น ที่เราไม่สามารถไปร่วมถวายบูชามิสซาพร้อมกับกลุ่มคริสตชนของเรา และเราก็ได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสารภาพบาปนี้ในการแก้บางครั้งต่อไป

 

 

Free Web Hosting