วัดแม่พระกุหลาบทิพย์
ผู้อ่านพระคัมภีร์ (Lector)
คุณพ่อประชาชาติ ปรีชาวุฒิ

l คำนำ l
l ผู้อ่านพระคัมภีร์ l คำแนะนำสำหรับผู้อ่านพระคัมภีร์ l ความหมายของพระคัมภีร์ l
l บทอ่านในพิธี l ภาคต่างๆ ในพิธีมิสซาฯ l ความหมายของเทศกาลในพิธีกรรม l
l ข้อการปฏิบัติสำหรับผู้อ่านฯ ในพิธี l ภาคผนวกการแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์ l


 

 

บทบาทหน้าที่ของ “ผู้อ่านพระคัมภีร์” (Lector)
   

1. ฆราวาสที่มีอายุและคุณสมบัติเหมาะสมตามประกาศของสภาพระสังฆราชคาทอลิก สามารถรับการแต่งตั้งเป็นศาสนบริกรขั้นผู้อ่านพระคัมภีร์ และผู้ช่วยพิธีกรรมตามจารีตพิธีว่าด้วยการแต่งตั้งนี้ อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่า ฆราวาสเหล่านี้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือ หรือการตอบแทนจากพระศาสนจักร (ม.230,1)

2. ฆราวาสสามารถปฏิบัติหน้าที่อ่านพระคัมภีร์ระหว่างพิธีกรรม โดยการทำหน้าที่แทนแบบชั่วคราว เหมือนฆราวาสทุกคนสามารถทำหน้าที่พิธีกร หรือนักขับร้อง หรือหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด (ม.230,2)

3. เมื่อพระศาสนจักรมีความจำเป็น และเมื่อขาดศาสนบริกร แม้ว่าฆราวาสที่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ หรือผู้ช่วยพิธีกรรม ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ กล่าวคือ อ่านบทอ่านในพิธีกรรม เป็นประธานทำวจนพิธีกรรม โปรดศีลล้างบาป และแจกศีลมหาสนิทตามที่กฎหมายกำหนด (ม.230,3)

4. ก่อนที่ผู้ใดจะรับศีลบวชเป็นสังฆานุกรถาวร หรือชั่วคราว เขาต้องรับแต่งตั้งเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ และผู้ช่วยพิธีกรรม และต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นช่วงเวลานานพอสมควร (ม.1035,1)

ตำแหน่งหน้าที่ “ผู้อ่านพระคัมภีร์” (Lector)

ศาสนบริกร ผู้อ่านพระคัมภีร์ (Lector) เป็นตำแหน่งหน้าที่ทางการขั้นแรก ซึ่งพระศาสนจักรให้แก่สามเณรใหญ่ที่ใกล้จะได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ตำแหน่งหน้าที่ทางการขั้นที่สอง คือ ผู้ช่วยพิธีกรรม (Acolythusจากภาษากรีก แปลว่า ผู้ติดตาม กล่าวคือ ติดตามช่วยสังฆนุกร และพระสงฆ์ในเวลาประกอบพิธีกรรม) ผู้ที่ได้รับตำแหน่งขั้นนี้ต่อไปก็จะได้รับการพิจารณาให้รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร (Diaconus) และพระสงฆ์

อนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ทั้งสองขั้นดังกล่าว ปัจจุบันพระศาสนจักรไม่ได้สงวนไว้ให้สามเณรใหญ่โดยเฉพาะเท่านั้นแม้ฆราวาสก็อาจได้รับหน้าที่นี้ หากพระสังฆราชผู้ปกครองเห็นว่าจำเป็นและเหมาะสมดังที่เราได้กล่าวมาแล้ว

“หน้าที่ของผู้อ่านพระคัมภีร์”
โดยเฉพาะเจาะจงคือ“อ่านบทอ่าน จากพระคัมภีร์ต่าง ๆ (ยกเว้นบทพระวรสาร ซึ่งสงวนไว้เป็นพิเศษแก่สังฆานุกร) ในเวลาประกอบพิธีมิสซาฯ หรือในพิธีกรรมอื่นๆ นอกนั้นยังอาจประกอบหน้าที่แทนนักร้องเพลงสดุดี (Psalmist) โดยอ่านหรือขับร้องบทสดุดีในการประกาศข้อตั้งใจต่างๆในบทภาวนาเพื่อมวลชนเป็นผู้นำสัตบุรุษในการร้องเพลง และการร่วมจิตใจในพิธีกรรม” ในสมณกฤษฎีกา (Motu Proprio) Ministeria Quaedam ยังกำหนดหน้าที่อื่น ๆ ไว้อีกว่า “ยังอาจทำหน้าที่สอน อบรมสัตบุรุษให้เข้ามารับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆอย่างเหมาะสมทั้งยังสอนและเตรียมผู้ทำหน้าที่ผู้อ่านฯชั่วคราวในพิธีกรรมด้วย” สำหรับชีวิตส่วนตัวของ ศาสนบริกรผู้อ่านพระคัมภีร์นั้น พระศาสนจักรเตือนให้ “รำพึงถึงพระวาจาในพระคัมภีร์ (ที่ตนอ่าน) และดำเนินชีวิตตามแบบอย่างแห่งคำสั่งสอนนั้นด้วย”

(กลับด้านบน)

 

 

 

 


คำนำ

1. ภาพที่มีความหมายของพระศาสนจักร ที่สภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ได้ยกขึ้นมาพูด คือกิจกรรมของพระศาสนจักร ซึ่งเป็น “ศีลที่แสดงความเป็นหนึ่ง กล่าวคือ ประชากรศักดิ์สิทธิ์รวมกันเป็นหนึ่งเดียวและจัดตั้งขึ้นภายใต้อำนาจของบรรดาพระสังฆราชของเขา” (พระธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ข้อ 26) อีกแง่มุมหนึ่งพระศาสนจักรเป็นหมู่คณะพี่น้องชายหญิงที่มีศักดิ์ศรี และหน้าที่เท่าเทียมกัน แต่มีพระพรพิเศษแตกต่างกัน (พรสวรรค์ ความสามารถ) เพื่อตอบสนองความต้องการของคริสตชุมชน ความร่ำรวย และความหลายหลากของพระพรพิเศษทั้งหลายเหล่านี้เด่นชัดขึ้น เมื่อมีชีวิตอยู่ในพระศาสนจักร กล่าวคือ การปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ (หัวข้อสำคัญของสภาสังคายนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์)

1.1 นอกจากจะเน้นถึงศาสนบริการ และหน้าที่ในการสั่งสอนศาสนาแล้ว พระสังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการประกาศพระวาจา และวจนพิธีกรรมอีกด้วย พระเยซูเจ้าประทับอยู่ภายในคริสตชุมชนแบบพิเศษระหว่างสวดบทขอบพระคุณที่พระแท่น(โต๊ะแห่งศีลมหาสนิท)ฉันใด พระเยซูเจ้าก็สำแดงพระองค์ระหว่างการอ่านพระคัมภีร์จากบรรณฐาน (โต๊ะแห่งพระวาจา) ฉันนั้น

1.2 การอ่านพระวาจาไม่ใช่สิทธิพิเศษของผู้รับศีลบวชเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของผู้อ่านพระคัมภีซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในพิธีกรรม คือ อ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์ต่าง ๆ ยกเว้นพระวรสาร พระเยซูเจ้าเองทรงคุ้นเคยกับพระคัมภีร์ พระองค์ปฏิบัติศาสนบริการนี้ในศาลาธรรม ในพระวรสารของนักบุญลูกา เล่าว่าพระองค์ทรงยืนขึ้น และอ่าน เมื่ออ่านจบแล้ว “พระองค์ทรงม้วนหนังสือส่งคืนให้แก่เจ้าหน้าที่ แล้วทรงนั่งลง” (เทียบ ลก.4:16-22)

1.3 คริสตชนทุกคนได้รับการเชื้อเชิญให้อ่าน และรำพึงพระคัมภีร์ อย่างไรก็ตาม บางคนได้รับพระพรพิเศษให้ประกาศพระวาจา โดยถูกเรียกให้เป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ และเป็นศาสน บริกรผู้อ่านพระวาจาท่ามกลางกลุ่มภาวนา

หน้าที่

2. ผู้อ่านพระคัมภีร์ มีหน้าที่ต้องประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ เมื่อพวกเขาร่วมกันถวายสักการะบูชา (บูชามิสซาศีลศักดิ์สิทธิ์ ทำวัตร และพิธีอื่น ๆ)

2.1 คำแนะนำทั่วไปของหนังสือมิสซาโรมัน (ข้อ 66) คือ เมื่อไรก็ตามที่ผู้อ่านพระคัมภีร์อยู่ร่วมพิธี แม้แต่มิสซาประจำวัน ต้องให้ผู้อ่านปฏิบัติหน้าที่มากกว่าจะเป็นสังฆานุกร หรือพระสงฆ์ โดยหลักการแล้ว ไม่ควรที่จะให้ผู้ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อ่านพระคัมภีร์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้

2.2 ในกรณีที่นักขับร้องเพลงสดุดีไม่อยู่ ผู้อ่านพระคัมภีร์ทำหน้าที่แทน

2.3 เมื่อไม่มีสังฆานุกร หรือนักขับร้องเพลงสดุดีทำหน้าที่นี้ ผู้อ่านพระคัมภีร์เป็นคนรวบรวมข้อตั้งใจของหมู่คณะในบทภาวนาเพื่อมวลชน

2.4 ผู้อ่านพระคัมภีร์สามารถเชิญชวนอย่างเหมาะสมให้ผู้ที่มาร่วมชุมนุมร่วมร้องเพลง และสามารถนำผู้อื่นด้วยรูปแบบของการมีส่วนร่วมที่เหมาะสม

2.5 หลักการทั่วไป หน้าที่สำคัญของผู้อ่านพระคัมภีร์ คือ ประกาศพระวาจาของพระเป็นเจ้า ไม่ใช่ยุ่งอยู่กับกิจกรรมอย่างอื่น

ความรับผิดชอบ

3. ผู้อ่านพระคัมภีร์ มีหน้าที่ประกาศพระวาจาให้ทุกคนได้ยินข่าวสารของพระเป็นเจ้า ด้วยความเชื่อ กิริยาท่าทางในการอ่านพระคัมภีร์ และชีวิตของพวกเขา พวกเขาต้องระมัดระวังว่า ไม่มีอะไรที่พวกเขาทำเป็นเหตุให้ประชาชนไม่เอาใจใส่ หรือปฏิเสธข่าวสารของพระเป็นเจ้า เพื่อให้เกิดผลดียิ่งขึ้น พวกเขาต้องสนับสนุนพระวาจาของพระเป็นเจ้าด้วยชีวิต เช่นเดียวกับการประกาศของพวกเขา


การเตรียมตัว

4. การเตรียมอ่านอย่างดีเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่คุ้นเคยคู่มือเท่านั้น แต่ต้องศึกษา และภาวนาส่วนตัวด้วย

4.1 ส่วนหนึ่งของการตระเตรียมที่ดี คือ ไปถึงวัดก่อนพิธีจะเริ่ม เพื่อตรวจความเรียบร้อย

4.2 ใช้เวลาชั่วขณะหนึ่งทบทวน และภาวนา (ส่วนตัว และแบ่งปัน) ก่อนอ่านบทอ่าน

ศักดิ์ศรี
5. สภาสังคายนาวาติวันที่ 2 พระธรรมนูญเรื่องพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (ข้อ 29) ขอร้องให้ศาสนบริกรทำหน้าที่ด้วยความเคารพ และสง่างาม หน้าที่ของผู้อ่านพระคัมภีร์ และความคาดหวังของสัตบุรุษเรียกร้องคุณลักษณะเหล่านี้

 

จิตตารมณ์ และการฝึกฝน


6. เมื่อทำหน้าที่ศาสนบริกร ผู้อ่านพระคัมภีร์ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ ให้เข้าใจความหมายของพิธีกรรม เข้าใจความหมายของพระคัมภีร์ และการพูดในที่ชุมชน

6.1 ผู้อ่านพระคัมภีร์ควรอ่านด้วยสำเนียงที่เหมาะสมกับเนื้อหา ผู้ฟัง และสถานที่ที่ประกอบพิธี

6.2 ผู้อ่านควรมีความคุ้นเคยกับการใช้ไมโครโฟน และหนังสือบทอ่าน

6.3 ผู้อ่านควรจะเดินถือพระคัมภีร์ไปยังที่อ่านด้วยความสุภาพ

6.4 แม้เริ่มฝึกเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์แล้ว มิได้หมายความว่าจะทำหน้าที่ได้อย่างดี ต้องฝึกบ่อย ๆ

6.5 การฝึกฝนแบบต่อเนื่อง เช่น ศึกษาพระคัมภีร์ ฝึกปฏิบัติ วิจารณ์ตัวเอง ภาวนาร่วมกัน เข้าเงียบ รวมกลุ่มกันตามโอกาส เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างผู้อ่านให้ทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น


ความสำนึก และการสนับสนุน

7. ศาสนบริการของผู้อ่านพระคัมภีร์เป็นบทบาทหนึ่งในพิธีกรรมของพระศาสนจักร หากผู้อ่านไม่เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่อย่างดี ก็มีผลต่อผู้มาร่วมพิธี และพิธีกรรมเอง

7.1 การแบ่งปันพระวาจานี้ ผู้อ่านพระคัมภีร์ต้องการความช่วยเหลือจากสมาชิกของคริสตชุมชน ผู้กำลังฟังพวกเขา

7.2 พวกเขาต้องการคำแนะนำจากพระสงฆ์ คณะกรรมการพิธีกรรมของวัดควรให้ความช่วยเหลือ ผู้อ่านพระคัมภีร์ต้องการการสนับสนุน และการรับรู้ของพระอัครสังฆราช ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของศาสนพิธีทั้งหมดในสังฆมณฑล

7.3 ผู้ที่รับผิดชอบพิธีกรรมของวัดต้องเอาใจใส่เรื่องตำแหน่งของผู้อ่านพระคัมภีร์ในขบวนแห่ ที่นั่ง เครื่องแต่งกาย พิธีแต่งตั้ง ฯลฯ

การแต่งกาย

8. จะใช้หรือไม่ใช้เครื่องแต่งกายพิเศษ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ควรใช้เวลาศึกษาเหตุผล เพื่อตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

พิธีแต่งตั้ง

9. พระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์ ซึ่งได้รับการรับรองจากพระสงฆ์เจ้าอาวาส พิธีแต่งตั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในพิธีมิสซาฯ พร้อมกับพิธีแต่งตั้งศาสนบริกรอื่น ๆ

9.1 ในพิธีมิสซาฯ พิธีแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์ต่อจากภาควจนพิธีกรรม กล่าวคือ หลังจากบทเทศน์

- ประธานจะกล่าวถึงบทบาทของศาสนบริกรในชีวิต และสักการะบูชาของคริสตชุมชน

- ประธานแนะนำผู้สมัครถึงความรับผิดชอบของพวกเขา

- บทภาวนาของประธาน

- การมอบสัญลักษณ์ที่เหมาะสมกับบทบาทของศาสน บริกร

- ผู้สมัครรับสัญลักษณ์นั้น

9.2 ใบแต่งตั้งผู้อ่าน ผู้อ่านพระคัมภีร์ควรรับใบแต่งตั้ง ซึ่งมีกำหนดเวลาแน่นอน

9.3 พิธีแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์ ดูได้จาก “: USCC PUBLICATIONS THE INSTITUTION OF READERS (BISHOPS’ COMMITTEE ON LITURGY, MINISTRIES IN THE CHURCH, STUDY TEXT III; WASHINGTON, DC OFFICE, 1975, PP.51-53) ON INTERIM (COMMISSIONING) RITE “NATIONAL BULLETIN ON LITURGY ; OTTAWA : CANADIAN CATHOLIC CONFERENCE ; VOL. 9, NO.53, MARCH–APRIL, 1976, PP.90-92)

9.4 หลังจากพิธีแต่งตั้งแล้ว ควรจัดให้ผู้อ่านพระคัมภีร์มีโอกาสฟื้นฟูจิตใจตามสมควร

ระยะเวลา

10. การรับใช้พระเป็นเจ้าในพระศาสนจักร
โดยประกาศพระวาจานี้ ควรทำด้วยความมั่นคง สม่ำเสมอ และอุทิศตน ถึงแม้จะไม่ใช่การแต่งตั้งถาวร

10.1 กำหนดระยะเวลาทำหน้าที่นี้คราวละ 2 ปี

10.2 เมื่อสิ้นสุดวาระ ผู้อ่านพระคัมภีร์ควรประเมินผล รับการ อบรม และหากเห็นสมควรก็สามารถรับการแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่งได้

10.3 ถ้าผู้อ่านรู้สึกว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ต่อไป ก็สามารถลาออกได้

10.4 บุคคลที่ในเวลาต่อมาปรากฏว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้อ่านพระคัมภีร์ (ความสามารถการทำงานร่วมกับคนอื่น หรือการเป็นพยาน) ควรจะออกจากหน้าที่ เขาอาจช่วยงานอื่น ๆ ของวัดได้

สรุป

 

“เพราะฝน และหิมะลงมาจากฟ้าสวรรค์
และไม่กลับไปที่นั่นเว้นแต่รดแผ่นดินโลก
การทำให้มันบังเกิดผลแตกหน่อ
อำนวยเมล็ดแก่ผู้หว่าน และอาหารแก่ผู้กินฉันใด
คำของเราซึ่งออกไปจากปากของเรา
จะไม่กลับมาสู่เราเปล่า
แต่จะสัมฤทธิ์ผลซึ่งเรามุ่งหมายไว้
และให้สิ่งซึ่งเราใช้ไปทำนั้นจำเริญขึ้น ฉันนั้น”

(อสย.55:10–11)

ARCHBISHOP RAYMOND G. HUNTHAUSEN
22 APRIL 1980

ARCHDIOCESE OF SEATTLE

(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 


พระคัมภีร์ เป็นหนังสือที่บรรจุพระวาจาของพระเป็นเจ้า โดยที่พระเป็นเจ้าเองทรงมีความต้องการที่จะเปิดเผยให้มนุษย์ได้รู้จักพระองค์ เป็นข่าวดีแห่งความรอดของพระองค์ต่อมนุษย์ทุกคน มนุษย์จะทราบและรู้จักพระเป็นเจ้าได้ ก็จะต้องรู้จักอ่าน หรือศึกษาจากพระคัมภีร์ โดยที่มนุษย์จะต้องร่วมมือกับพระองค์ และปฏิบัติตามพระวาจาเพื่อจะได้บรรลุถึงหนทางแห่งความรอด

โดยปกติคนเราก็ติดต่อกันด้วยคำพูดหรือทางภาษา พระเป็นเจ้าก็ใช้วิธีเดียวกันที่มนุษย์สามารถจะเข้าใจได้ โดยใช้พระวาจาของพระเป็นเจ้า เป็นสื่อและบันทึกรวบรวมเข้าไว้ด้วยภาษาของมนุษย์ ที่เราเรียกว่า “หนังสือพระคัมภีร์”

องค์ประกอบของพระคัมภีร์

พระคัมภีร์ ประกอบด้วย หนังสือประเภทต่างๆ หรือเล่มต่างๆรวบรวมไว้ทั้งหมด 73 เล่ม ด้วยกัน มีอยู่ด้วยกัน 2 ภาคคือ

ภาคพันธสัญญาเดิม ( The Old Testament ) มี 46 เล่ม

ภาคพันธสัญญาใหม่ ( The New Testament ) มี 27 เล่ม

พระคัมภีร์ จึงเปรียบเสมือน เหรียญที่มี 2 ด้านประกอบกัน คือทั้งทางด้านพันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาใหม่ที่ต่อเนื่องสัมพันธ์ต่อกันที่เราเรียกว่าเป็น “พันธสัญญา ( Covenant )” นั่นคือจุดศูนย์กลาง และจุดสุดยอดคือ องค์พระเยซูคริสตเจ้า ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดที่สมบูรณ์ไปได้นั้นตั้งแต่ปฐมกาล ในพระธรรมเดิมมาจนถึงองค์พระเยซูคริสตเจ้า และต่อจากองค์พระเยซูคริสตเจ้าเป็นต้นมา ในพระธรรมใหม่ ดังที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ที่ว่า

“ในโบราณกาลพระเจ้าได้ตรัสด้วยวิธีต่างๆมากมายแก่บรรพบุรุษของเรา โดยทางผู้เผยพระวจนะ แต่ในวาระสุดท้ายนี้ พระองค์ได้ตรัสกับเราทั้งหลายโดยทางพระบุตร…” (ฮบ. 1: 1-2)
พันธสัญญาเดิม

มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 46 เล่ม แบ่งออกเป็น 4 ภาคใหญ่ๆ ได้แก่

1. ปัญจบรรพ (The Pentateuch) มีอยู่ด้วยกัน 5 เล่มที่กล่าวถึงพระประสงค์ของพระและวิถีชีวิตมนุษย์ เป็นการบอกเล่าถ่ายทอดประสบการณ์อันยาวนาน มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องเวลา วัฒนธรรม ประเพณี หรือผู้เขียนก็เป็นแบบ “เขียนตามคำบอก” เพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่มีระบบการเขียนที่แน่นอน โดยมีการบอกเล่าซ้ำต่อๆกันมาจากปากต่อปากให้ชนรุ่นหลังได้ทราบ

2. ประวัติศาสตร์ (Historical Books) มีอยู่ด้วยกัน 16 เล่มได้เล่าบรรยายถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ชาติอิสราแอล ในสมัยของผู้วินิจฉัยและบรรดากษัตริย์ของชาติอิสราแอล

3. ปรีชาญาณ (Wisdom) มีอยู่ด้วยกัน 7 เล่มเป็นคำสอนข้อคิดเตือนใจในการเจริญชีวิต

4. ประกาศก (Prophet) มีทั้งหมด 18 เล่มเป็นหนังสือที่ประกาศกได้เตือนใจประชาชนให้สำนึกตนกลับใจ ปฏิบัติตนให้สอดคล้อง และซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญา แบ่งเป็นช่วงสมัยตามลำดับ เป็นการแสดงถึงข่าวดี ทางแห่งความรอด ที่พระเป็นเจ้าได้เผยแสดงแก่ประกาศก เกี่ยวกับการเสด็จมาบังเกิด และการไถ่ให้รอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า

พันธสัญญาใหม่

มีอยู่ด้วยกัน 27 เล่ม แบ่งออกได้เป็นส่วนต่างๆ 4 ส่วน ได้แก่ พระวรสาร 4 เล่ม กิจการอัครสาวก 1 เล่ม บทจดหมาย 21 เล่ม และวิวรณ์ 1 เล่ม เป็นการบันทึกเรื่องราวของพระเยซูเจ้า และภายหลังจากการไถ่บาปและกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า การก่อตั้งพระศาสนจักร และการเสริมความเชื่อของคริสตชนรุ่นแรก เน้นที่องค์พระเยซูคริสตเจ้าซึ่งเป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์แห่งความรอดระหว่างพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่

บทสรุป

พระคัมภีร์ จึงไม่ใช่เพียงต้องการบอกให้เรามนุษย์ได้ทราบเพียงทางด้านประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ หรือภูมิศาสตร์ ตลอดจนการเป็นอยู่ของมนุษย์เท่านั้น แต่สิ่งที่พระคัมภีร์ต้องการบอกแก่เราคือ ความรอดที่พระเป็นเจ้าทรงต้องการให้มนุษย์ได้รับรู้และได้ปฏิบัติตาม เพื่อจะได้รับความรอด ทำให้เราเข้าใจว่าพระเป็นเจ้าคือใคร, มนุษย์เป็นใคร, มาจากไหน และจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อเราจะได้มีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์แห่งความรอด และสำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรพระเป็นเจ้า องค์แห่งความรัก และผู้ช่วยเราให้รอด

(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 

 

บทอ่านในพระธรรมเดิม

บทอ่านในพระธรรมใหม่

บทเพลงสดุดี มีจำนวน 150 บทด้วยกัน เป็นการแสดงความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ในความสัมพันธ์ติดต่อกับพระเป็นเจ้า สะท้อนสภาพจิตใจของมนุษย์โดยทั่วไป ทั้งในความเศร้าโศก หมดหวัง หรือชื่นชมยินดี เป็นทั้งคำสรรเสริญ อ้อนวอน หรือขอบพระคุณพระเป็นเจ้า

เราร้องบทเพลงสดุดีสลับกับสร้อย เพื่อให้เห็นถึงหมู่ชนหรือชุมชนแห่งความเชื่อโห่ร้องพร้อมกับผู้นำในการสวดหรือร้องเพลงสดุดี เพื่อเสนอวิงวอนต่อพระเป็นเจ้า

บทพระวรสาร “ข่าวดีแห่งความรอด” ขององค์พระเยซูคริสตเจ้าเป็นบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า ตลอดชีวิต 33 ปี ที่พระองค์ทรงมารับสภาพเป็นมนุษย์ ประกาศข่าวดีแห่งความรอด และทรงช่วยปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากบาป โดยผู้นิพนธ์พระวรสารทั้งสี่ ทำให้เราได้ทราบถึงการประสูติ ดำเนินชีวิต การเทศนาสั่งสอนการทำอัศจรรย์ ทรงยอมรับทรมานสิ้นพระชนม์ และกลับคืนชีพ เสด็จสู่สวรรค์ และได้ทรงส่งพระจิตลงมาช่วยมนุษย์ก่อตั้งพระศาสนจักร โดยการนำของบรรดาอัครสาวกที่ประกาศพระวาจา และเป็นพยานชีวิตที่สืบทอดต่อกันมา เพื่อการประกาศพระวาจาที่เป็นข่าวดีแห่งความรอดให้แก่มวลมนุษยชาติสืบต่อไป

เหตุผลที่ต้องให้ความเคารพต่อพระวรสาร ก็เพราะว่า เป็นข่าวดีแห่งความรอด ขององค์พระคริสตเจ้าเอง “เพราะในบรรดาหนังสือพระคัมภีร์ พระวรสารเด่นกว่าหมด (DV.18)

บทสรุป

พระวาจาในพระคัมภีร์ เป็นเรื่องทันสมัยอยู่เสมอ (เช่นเดียวกับพระจิต ที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ) แต่อยู่ที่การเลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน แต่การที่พระวาจาจะบังเกิดผลต่อมนุษย์นั้น นอกจากต้องอาศัยความเชื่อและการกลับใจแล้วจำเป็นต้องลงมือปฏิบัติด้วย จึงจะบังเกิดผลอย่างแท้จริง

 

(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 


พิธีมิสซาฯ คือพิธีบูชาขอบพระคุณ ในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคริสตชน โดยมีองค์พระเยซูเจ้าเอง เป็นเครื่องบูชาเพื่อไถ่บาปแก่เรามนุษย์ ดังนั้น พิธีมิสซาฯจึงเป็นพิธีที่เป็นทางการในความเป็นหนึ่งเดียวของคริสตชนที่จะขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ที่ได้ทรงประทานพระบุตรพระเยซูคริสตเจ้าลงมาไถ่บาปแทนเราทุกคน

 

ในความเป็นจริง คำว่า “มิสซา” หมายถึง “การถูกส่งไป” เพื่อประกาศข่าวดี และเป็นแบบอย่าง รวมทั้งมอบตนเองและชีวิตให้มีคุณค่าต่อคนอื่นๆ (อากัปเป)ความหมายที่แท้จริงของมิสซา เราจึงควรเรียกพิธีกรรมในปัจจุบันว่า“พิธีบูชาขอบพระคุณ” โดยเน้นที่ความหมายของพิธีกรรมว่าเป็นการขอบพระคุณ (Eucharistic Celebration) อย่างแท้จริง คือพระเยซูเจ้าเป็นทั้งผู้ถวายและเป็นเครื่องบูชาเองที่ถูกถวาย โดยผ่านทางพิธีการหักปังบนพระแท่นเพื่อขอบคุณพระบิดาสำหรับการส่งพระบุตรผู้มาไถ่กู้มนุษยชาติ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า คำว่ามิสซา จึงไม่ตรงกับคำศัพท์และความหมายทางพิธีกรรม เพียงแต่มีความเข้าใจและถือกันมาจากธรรมประเพณีแรกๆสืบต่อกันมา

การประทับอยู่ของพระคริสตเจ้า


ในพิธีมิสซาฯ คริสตชนเชื่อว่า องค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่อย่างแท้จริง คือ

1. จากพระวาจาของพระองค์ ในบทอ่านจากพระคัมภีร์

2. ระหว่างการเสกปังและเหล้าองุ่น เป็นวิธีที่สมบูรณ์ที่สุดในการที่พระเยซูเจ้าจะสถิตอยู่ในพิธีบูชามิสซา เพราะเป็นการรื้อฟื้นการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้า

3. การรับศีลมหาสนิท ซึ่งเป็น “ปังทรงชีวิต”

เมื่อพิธีมิสซาฯ สิ้นสุดแล้ว พระเยซูเจ้ายังคงประทับอยู่ในศีลมหาสนิท ธรรมเนียมการเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้หลังมิสซา จึงเกิดขึ้นเพราะความต้องการที่จะใช้เป็นศีลเสบียงสำหรับคนเจ็บป่วย และแจกศีลแก่ผู้ที่ไม่สามารถมาร่วมพิธีมิสซาฯได้ จึงเกิดธรรมเนียม “การเฝ้าศีล” เกิดขึ้นในภายหลังด้วย

จะเห็นได้ว่า มิสซา เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตคริสตชน ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่พิธีกรรมภายนอกเท่านั้น หรือการบริจาคทาน คริสตชนทุกคน ควรมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่างๆที่ประกอบขึ้นทุกขั้นตอน

องค์ประกอบของพิธีมิสซา บูชาขอบพระคุณ

พิธีการต่างๆของพิธีมิสซาฯนั้น ประกอบด้วยภาคต่างๆ ดังนี้

1. ภาคเริ่มพิธี ตั้งแต่เริ่มพิธี ไปจนถึงบทภาวนาของประธาน

2. ภาควจนพิธีกรรม เริ่มจากบทอ่านแรกจากพันธสัญญาเดิม บทอ่านที่สองซึ่งเป็นบทจดหมาย หรือหนังสืออื่นๆในพันธสัญญาใหม่ และพระวรสาร ซึ่งถือเป็นพระวาจาของพระเป็นเจ้าที่ตรัสผ่านทางองค์พระบุตรคือพระเยซูเจ้า การเทศน์เตือนใจของพระสงฆ์ การประกาศยืนยันความเชื่อ และบทภาวนาเพื่อมวลชน

3. ภาคศีลมหาสนิท เริ่มจากภาคถวายเครื่องบูชา จนถึงบทภาวนาหลังรับศีล

4. ภาคปิดพิธี

1. ภาคเริ่มพิธ

เริ่มจากเพลงแห่เข้า (ในความเป็นจริงจะไม่มีเพลงก็ได้ แต่การที่มีเพลงเพื่อให้สัตบุรุษรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อสรรเสริญพระเป็นเจ้าและถือเป็นการภาวนาอย่างหนึ่ง เพลงในพิธีกรรมที่ดี ควรเป็นเพลงที่สื่อความหมายให้เข้าใจในพิธีกรรมและร่วมจิตใจได้) – คำทักทาย – การสารภาพความผิด – บทกีรีเอ (พัฒนามาจากบทลีตานีอาในยุคแรกเริ่ม) – บทกลอรีอา และจบที่บทภาวนาของประธานซึ่งเป็นช่วงเชื่อมต่อไปสู่ช่วงที่สอง ในภาควจนพิธีกรรม

สาระโดยรวมของภาคเริ่มพิธีนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเริ่มต้น นำ และเตรียมให้บรรดาสัตบุรุษที่ชุมนุมอยู่ด้วยกัน มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นการโน้มน้าวจิตใจให้พร้อมที่จะฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้าอย่างถูกต้อง และให้ฉลองศีลมหาสนิทอย่างสมควร

2. ภาควจนพิธีกรรม

ภาควจนพิธีกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีที่ชาวยิวปฏิบัติกันมาแต่เดิม ก่อนยุคของพระเยซูเจ้า โดยในพิธีมิสซาฯ จะจัดให้มี “โต๊ะพระวาจา” หรือธรรมาสน์เพื่อใช้อ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้าแยกออกจาก “โต๊ะศีลมหาสนิท” หรือพระแท่น อันเป็นจุดที่สำคัญที่สุดของวัด

การอ่านบทอ่าน ไม่ใช่หน้าที่ของประธาน แต่เป็นหน้าที่ของศาสนบริกร เช่น สังฆานุกร หรือผู้อ่านพระคัมภีร์ สำหรับการอ่านพระวรสารนั้น เป็นหน้าที่ของสังฆานุกร หรือประธาน ในพิธีกรรมจะต้องแสดงออกถึงการคารวะอย่างยิ่งต่อพระวรสารที่อ่าน โดยให้เกียรติอย่างพิเศษกว่าบทอ่านอื่นๆ ไม่ว่าในการเลือกผู้อ่านระดับศาสนบริกร หรือพระสงฆ์เอง สัตบุรุษเองก็ต้องแสดงความคารวะอย่างพิเศษโดยการยืนฟังและพนมมืออย่างสำรวม

ในระหว่างการอ่านบทอ่าน จะมีการร้องเพลงคั่น ในช่วงแรกจะเป็นเพลงสดุดี (Psalms) และส่วนที่สอง จะเป็นเพลงสรรเสริญ (Acclamation) หรือเพลง Hymn และบทอัลเลลูยา ซึ่งจะร้องก่อนการอ่านพระวรสาร

 

การเทศนาเตือนใจ (Homilia) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม เป็นส่วนที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน และจะต้องอธิบายบางแง่ในบทอ่านจากพระคัมภีร์ของมิสซาประจำวันนั้นๆ การเทศนาเตือนใจ มีลักษณะพิเศษแตกต่างกว่าการเทศน์ในรูปอื่น เพราะการเทศน์แบบนี้ เป็นการเทศน์เพื่ออธิบาย หรือโน้มน้าวจิตใจผู้ฟังให้ปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสกับเราผ่านทางพระคัมภีร์ มากกว่าจะมุ่งเน้นแบบการสอนศาสนาให้คนกลับใจ (Evangelization) หรือการเทศน์แบบสอนคำสอน (Catechesis)

เมื่อพระสงฆ์เทศน์เตือนใจแล้ว จะเป็นการประกาศยืนยันความเชื่อ (Credo) เพื่อให้ประชากรเห็นพ้องและสนองตอบพระวาจาของพระเจ้าที่ได้ฟังในบทอ่านและการเทศน์ และให้ระลึกถึงกฎแห่งศรัทธา ก่อนที่จะเริ่มพิธีศีลมหาสนิท และยังนับว่าเป็นบทสรุป “ประวัติศาสตร์แห่งความรอด” ซึ่งสัตบุรุษประกาศยืนยันศรัทธาของพระศาสนจักรที่มีมาแต่เดิม รวมทั้งแสดงความหวังที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตนิรันดรกับพระเป็นเจ้าในบั้นปลายด้วย

บทภาวนาเพื่อมวลชน มีขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ของคริสตชนที่จะต้องภาวนาเพื่อมนุษยโลก ในเรื่องต่างๆที่พระศาสนจักรได้กำหนดไว้

3. ภาคศีลมหาสนิท


เริ่มจากการเตรียมถวายเครื่องบูชา โดยต้องเตรียมพระแท่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมศีลมหาสนิททั้งมวล โดยปูผ้ารองถ้วยกาลิกส์ และจานศีล (Corporal) นำผ้าเช็ดถ้วยกาลิกส์ (Purificator) ถ้วยกาลิกส์ และหนังสือมิสซาวางบนพระแท่น และนำแผ่นปังและเหล้าองุ่นมาเตรียมไว้ รวมทั้งมีการบริจาคใส่ถุงทานสำหรับคนยากไร้ หรือทางวัดด้วย

คำภาวนาแห่งศีลมหาสนิท หรือการเสกปังและเหล้าองุ่นให้เป็นพระกาย และพระโลหิตของพระเยซูเจ้า ถือเป็นหัวใจสำคัญของพิธีมิสซาฯ ประกอบด้วยการเสกศีล เพื่อระลึกถึง / รื้อฟื้น การตั้งศีลมหาสนิทของพระเยซูเจ้าในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายก่อนทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน การขับร้องเพลงศักดิ์สิทธิ์ บทข้าแต่พระบิดา การบิปัง และการรับศีลมหาสนิทของสัตบุรุษ ซึ่งการรับศีลมหาสนิท นับว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งในบูชามิสซา การรับศีลมหาสนิทให้ความหมายหลายประการเช่น 1) เป็นการร่วมสนิท เป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้า 2) เป็นการร่วมมีส่วนในงานกอบกู้ของพระเยซูเจ้า 3) เป็นการร่วมสนิทสัมพันธ์กับพี่น้องคริสตชนด้วยกัน เป็นต้น

4. ภาคปิดพิธี

เมื่อสัตบุรุษรับศีลเสร็จเรียบร้อยครบทุกคนแล้ว จะเข้าสู่ภาคปิดพิธี ในภาคนี้ทางวัดจะมีการประกาศข่าวต่างๆให้สัตบุรุษทราบ จากนั้น จะเป็นการอำลา และอวยพร


(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 


1. เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

 

เป็นช่วงของการเตรียมวันพระคริสตสมภพ หรือการบังเกิดมาของพระเยซูคริสตเจ้า พระสงฆ์จะใส่อาภรณ์สีม่วง เพื่อชวนให้เราเตรียมจิตใจ รอคอย เพื่อการกลับใจ ใช้โทษบาป เพื่อการบังเกิดมาของพระผู้ไถ่ เป็นต้น ในจิตใจของเรา

2. เทศกาลพระคริสตสมภพ

เป็นการเฉลิมฉลองการบังเกิดมาขององค์พระเยซู พระผู้ไถ่กู้มนุษยชาติให้รอด เป็นบรรยากาศของความชื่นชมยินดี,ความหวัง, สันติสุข และความรักของพระเป็นเจ้า

3. เทศกาลมหาพรต

 

(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 



เป็นช่วงการเตรียมจิตใจของประชาสัตบุรุษ เพื่อเตรียมเข้าสู่เทศกาลปัสกา ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ และเป็นจุดศูนย์กลางของพิธีกรรมการฉลอง ดังนี้ช่วงมหาพรต ก็เป็นการเตรียมจิตใจด้วยการภาวนา, ถือศีลอดอาหาร, พลีกรรม, ใช้โทษบาป, บำเพ็ญกิจเมตตา ฯลฯ เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์เหมาะสม และเตรียมพร้อมเข้าสู่เทศกาลปัสกาอย่างสมเกียรติในจิตใจ

4. เทศกาลปัสกา

 

เป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่กว่าหมดในพระศาสนจักร ระลึก

ถึงความมีชัยชนะเหนือบาป และความตาย ในการกลับคืนชีพขององค์พระเยซูคริสตเจ้า พระผู้ไถ่ของชาวเรา นำความหวัง และชีวิตใหม่ให้แก่เรา การขับโห่ร้อง อัลเลลูยา เพื่อแสดงถึงความชื่นชมยินดีในจิตใจของเรา


บุคลิกท่าทาง

1. ในอาการสำรวมและให้เกียรติกับพระวาจาของพระเจ้า

2. กระทำอย่างสง่างาม สมเกียรติ และด้วยความเคารพ

3. มีความมั่นใจในการอ่านประกาศพระวาจา

4. มีความเรียบง่าย เหมาะสม และสอดคล้องกับพิธีกรรม

น้ำเสียง

1. การอ่านที่ชัดเจน น่าฟัง มีความพอดีของระดับเสียง

2. จังหวะของการอ่านที่สามารถเข้าใจได้ดี

3. ออกเสียงตัวสะกด และคำควบกล้ำที่ชัดเจนถูกต้อง

4. มีความพอดี ชัดเจน ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป

การแต่งกาย


1. แบบเรียบง่าย สุภาพชน เหมาะสม

2. ควรสวมชุดผู้อ่านฯ ตามที่มีกำหนดไว้ของสังฆมณฑลและทางวัดได้จัดเตรียมไว้ให้

3. สวมรองเท้าที่เรียบร้อย เหมาะสม เรียบง่าย

4. จัดความพร้อมของเครื่องแต่งกายให้ดี และไม่เป็นที่สะดุด

การเตรียมพร้อม


1. มีการเตรียมจิตใจ ภาวนา และรำพึงถึงพระวาจาในวันนั้น

2. เตรียมอ่านบทอ่าน และทำความเข้าใจให้ถูกต้องชัดเจน

(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 

คุณสมบัติ

1. เป็นคาทอลิกที่ดี และมีความศรัทธา

2. เป็นฆราวาสชายหญิงที่ได้รับศีลกำลัง และมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

3. ได้รับการรับรองจากสภาอภิบาล และพระสงฆ์เจ้าวัด

4. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสม่ำเสมอ

5. ผ่านการอบรมซึ่งทางอัครสังฆมณฑลกำหนด

หน้าที่

1. อ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์ (ยกเว้นพระวรสาร) ในเวลาประกอบพิธีบูชามิสซา หรือในพิธีกรรมอื่น ๆ

2. ประกาศข้อตั้งใจต่าง ๆ ในบทภาวนาเพื่อมวลชน

3. เป็นผู้นำสัตบุรุษในการร้องเพลง

4. สอน และเตรียมผู้ทำหน้าที่ผู้อ่านฯ ชั่วคราวในพิธีกรรม

5. รำพึงถึงพระวาจาในพระคัมภีร์ (ที่ตนอ่าน) และดำเนินชีวิตตามแบบอย่างคำสอนนั้น

(คุณพ่อสำราญ วงศ์เสงี่ยม, พิธีกรรม 3, หน้า 215-216)

** มีวาระ 2 ปี และสามารถรับการแต่งตั้งใหม่ได้ **

เนื้อหาการอบรม

1. บทบาทของฆราวาสในพิธีกรรม 1 คาบ

2. พิธีกรรมเบื้องต้น 3 คาบ

3. พระคัมภีร์เบื้องต้น 3 คาบ

4. มิสซาบูชาขอบพระคุณ 3 คาบ

5. ภาคปฏิบัติ 3 คาบ

 

(กลับด้านบน)

สารบัญ


1. ผู้อ่านพระคัมภีร์ (Lector)
- บทบาทหน้าที่ของ “ผู้อ่านพระคัมภีร์”
- ตำแหน่งหน้าที่ “ผู้อ่านพระคัมภีร์”

2. คำแนะนำสำหรับผู้อ่านพระคัมภีร์
3. ความหมายของพระคัมภีร์
- องค์ประกอบของพระคัมภีร์
- พันธสัญญาเดิม
- พันธสัญญาใหม่

4. บทอ่านในพิธีฯ
- บทอ่าน
- บทเพลงสดุดี
- บทพระวรสาร

5. ภาคต่างๆในพิธีมิสซา(บูชาขอบพระคุณ)

6. ความหมายของเทศกาลในพิธีกรรม
- มหาพรต
- ปัสกา
- เตรียมรับเสด็จฯ
- พระคริสตสมภพ

7. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้อ่านฯในพิธี

8. ภาคผนวก

(กลับด้านบน)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คำนำ

สิ่งน่ารู้ “สำหรับผู้อ่านพระคัมภีร์” ฉบับนี้จัดทำขึ้น เพื่อช่วยให้บรรดาผู้อ่านฯ ในพิธีกรรม ได้มีความรู้ความเข้าใจ เป็นแนวทางเพื่อจะเข้าใจความหมายในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้อ่านพระคัมภีร์ในพิธีกรรม

สำหรับเอกสารฉบับนี้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อใช้ประกอบคำบรรยายให้ความรู้สำหรับบรรดาผู้อ่านฯ ในพิธีกรรม ซึ่งได้รับเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือผู้อ่านพระคัมภีร์ ของทางแผนกคำสอนกรุงเทพฯ

ขอขอบคุณ คุณพ่อวีระ อาภรณ์รัตน์ ผู้ที่รับผิดชอบให้การอบรมผู้อ่านพระคัมภีร์และอนุญาต ให้นำเนื้อหาจากหนังสือผู้อ่านพระคัมภีร์มาปรับปรุงเพิ่มเติมในฉบับนี้

ขอพระสิริมงคลจงมีแด่พระเจ้า
และสันติสุขจงมีแด่ทุกคนผู้มีน้ำใจดี

คุณพ่อประชาชาติ ปรีชาวุฒิ

แผนกพิธีกรรมและดนตรีศักดิ์สิทธิ์ กรุงเทพฯ
15 สิงหาคม 2001

แผนกพิธีกรรม ดนตรี และศิลปศักดิ์สิทธิ์
อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 57 ซ.โอเรียนเต็ล ถ.เจริญกรุง 40 บางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร. (02)237-7316

 

(กลับด้านบน)

 

Free Web Hosting